ห้องตรวจตา...ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ

Blogนี้ผมตั้งใจทำขึ้นเพื่อตอบแทนสดุดีนโยบายบัตรทองประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร
จะรีบไปไหน...จะรีบไปไหน...รอโหลดซักกะเดี๋ยวซิครับ คลิก...นโยบาย"ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ"

* ขอขอบคุณที่ติดตามรับชมและช่วยประชาสัมพันธ์ลิงค์ http://eye009.blogspot.com/ ให้แพร่หลาย *
@ ปู้นนน...!!! คนเมืองใต้เจียงใหม่ของหมู่เฮาลงไปตางปู๊นนน..... * * * * * @ 2กุมภา..กาเบอร์ 15 ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย . . . ร่วมด้วยช่วยกันเผยแพร่สื่อสารถึง"คนเสื้อแดง"ทั่วไทยและทั่วโลก . . . ขอขอบพระคุณเจ้าของclipภาพถ่ายและบทความทุกๆท่านที่กรุณาเอื้อเฟื้อแบ่งปัน . . .น้ำใจซื้อขายไม่ได้ แต่น้ำใจให้กันได้...อิอิ


PlayListนี้ เริ่มต้นด้วย "เล่าเรื่อง ตาดูดาวเท้าติดดิน" เรียงลำดับตั้งแต่ ตอนแรก ถึง ตอนปัจจุบัน ..ท้ายเพลย์ลิสท์เป็นคลิป "เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำขัดรัฐธรรมนูญ : จะทำอย่างไร?" วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2556 เวลา 13.00 - 16.00 น. ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรมสุโกศล (สยามซิตี้เดิม) คลิปนี้..วิทยากร รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นเริ่มนาที 0:14:24
คลิกที่นี่ ดูบนyoutube...
หรือคลิกที่นี่.. @ AsiaUpdate "เล่าเรื่อง ตาดูดาวเท้าติดดิน"

คลิกที่นี่ ดูบนyoutube...

คลิกที่นี่ ดูบนyoutube...

ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับส่วนต่างๆและระบบการทำงานของดวงตา, โรคตาต่างๆ และวิธีการดูแลรักษาดวงตาอย่างถูกต้องที่สามารถปฏิบัติตามในเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง... ขอขอบคุณ www.knowledge.com

วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

42 หมออุดมเล่านิทาน..."ไม่มีนี่แหละสุข"


ไม่มีนี่แหละสุข...

เดือนนี้...วันนี้(8ธ.ค.)ผมไปก่อนนัด 14 วัน สาเหตุเพราะยาหยอดตาที่รับไปเมื่อเดือนก่อนหมดขวด เท่าที่สังเกตตอนยาเต็มขวดน้ำยาที่หยดออกมาจะเม็ดเล็กๆท่วมพอดีๆแล้วก็แห้งเข้าไปในดวงตา เมื่อน้ำยาพร่องเกินครึ่งขวดไปแล้วน้ำยาที่หยดออกมาจะเม็ดใหญ่ท่วมตาจนไหลล้นออกมาอาบแก้ม คิดว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ยา 1 ขวดใช้หยอดตาได้ไม่ถึงเดือน

เข้าห้องตรวจพบหน้าคุณหมออุดม ผมกล่าวทักสวัสดีครับแต่ไม่ได้ยกมือไหว้(กลัวคุณหมอจะอายุสั้น อิอิ...) ผมไม่ได้อยู่ที่เชียงใหม่แล้วตอนนี้อยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ไหวครับอยู่ที่โน่นอยู่แล้วความดันขึ้นปรี๊ดเลย แล้วผมก็เล่าถึงสาเหตุให้คุณหมอทราบ

หลังจากคุณพ่อผมเสียมรดกของท่านมีมากมายจะต้องแบ่งกับน้องๆทั้งผมด้วยรวม 5 คนด้วยกัน แรกๆผมอยากจะเป็นชาวสวน เมื่อสมัยคุณพ่อมีลูกน้องช่วยทำงาน 4-5 คนท่านใจดีให้ยกครอบครัวเข้ามาปลูกบ้านในที่ดินที่ว่างปลายสวน เมื่อผมไปอยู่ก็ให้ทำสัญญาว่าจ้างเป็นรายๆและเป็นปีๆไป คงจะเป็นสาเหตุนี้มั้งจึงมีแต่เรื่องปวดหัวทุกๆเช้า กลางวันก็ดูทุกๆคนเป็นมิตรแต่พอกลางคืนกลายเป็นศัตรูซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร

ปรึกษาพี่น้องเอามรดกทั้งหมดตีราคาประเมิน(ต่ำกว่าราคาซื้อขาย 2-3 เท่า)แบ่งกันคนละ 10 ล้านกว่าๆ น้องสาวรับภาระเอาเงินให้ 7ล้านผมยกให้แม่ของลูก ที่เหลือฝากธนาคารถอนออกมาเดือนละหมื่นเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว กะว่าจะอยู่ดูโลกนี้อีก 300 เดือน อิอิ...

“อะ...จะอยู่ต่ออีก 25 ปีเชียวเรอะ” คุณหมออุดมหัวเราะ “นี่แหละที่เขาว่ามีเงินแล้วเป็นทุกข์ หาความสุขไม่ได้...เออนี่ หมอจะเล่านิทานให้ฟัง...ว่าแต่ว่านับถือศาสนาอะไร...” เมื่อผมตอบนับถือศาสนาพุทธ คุณหมอก็เริ่มเล่านิทาน...'ไม่มีนี่แหละสุข'

...วันหนึ่งท่ามกลางพายุฤดูหนาวที่พัดกระหน่ำ อากาศหนาวเหน็บเย็นยะเยือก

มีชายคนหนึ่งเป็นคนเลี้ยงวัว มีวัว 16 ตัว วัวเขาเกิดหายไป

เขาเดินหาจนออกเหงื่อ ก็ไม่เจอ บังเอิญได้ไปพบพระพุทธเจ้า ทรงนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ จึงเข้าไปก้มกราบและถามพระพุทธองค์ว่า

“ท่ามกลางพายุฤดูหนาวเช่นนี้ พระองค์ทรงนั่งอยู่ได้อย่างไร อย่างมีความสุข”

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “นี่เธอมีความสุขหรือไม่”

คนเลี้ยงวัวตอบ “ไม่มีความสุขเลย”

พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อ “ทำไมเธอจึงไม่มีความสุข”

“วัว 16 ตัวของกระผมหายไป”

พระพุทธเจ้าก็เลยทรงถามว่า “ฉันไม่มีวัวสักตัวเลย เธอว่าฉันมีความสุขหรือไม่”

“พระองค์มีความสุขแน่นอน พระองค์ไม่มีวันที่วัวจะหายได้เลย”

พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามต่อว่า “ในเมืองนี้ใครรวยที่สุด”

“พระเจ้าพิมพิสาร”

พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามต่อ “พระเจ้าพิมพิสารมีโอกาสมานั่งสบายอย่างฉันหรือเปล่า”

“มานั่งแบบนี้เหมือนพระองค์ไม่ได้หรอก” คนเลี้ยงวัวตอบ

พระพุทธเจ้าทรงตรัสบอก “ในบรรดาคนที่มีความสุขที่สุดในโลก ต้องนับฉันเข้าไว้ด้วย 1 คน”

อะไร คือนิยามความสุขที่แท้จริงของมนุษย์?

ความสุขในนิยามอย่างพระพุทธองค์ หาได้เกี่ยวกับความมีหรือไม่มีสิ่งอันใดไม่?

และ ความไม่มีนั่นแหละ...กลับเป็นต้นทาง เป็นท่ามกลางและเป็นที่สุดของความสุขอันนิรันดร ที่ไม่มีสิ่งใดจะมาพรากจากเราไปได้เลย...คุณหมออุดมย้ำ

แล้วคนฟังคือผม...ดวงตาเห็นธรรมบรรลุอรหันต์ในทันใด อิอิ...

ขอเล่าส่งท้ายต่ออีกนิดนะครับ

พูดถึงเรื่องมีเงินมีทรัพย์แล้วเป็นทุกข์นี่ เพื่อนผมคนนึงมาเยี่ยม เราเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่ครั้งเรียนหนังสือแถวๆท่าพระจันทร์ ขับรถส่วนตัวยกครอบครัวพาลูก-เมียมาจาก ตจว. ตีสองตีสามมันตื่นพรวดพราดลุกขึ้นมากดรีโมทในมือ ถามมันไม่ตอบ แต่ได้ยินเสียงแตรรถดังลั่นอยู่กลางสนามหน้าบ้าน อ๋อ...มันเช็ครถ ก็บอกมึงเอาเข้ามาจอดในบ้านเลย จะได้ไม่ต้องมาคอยกังวลชั่วโมงครึ่งชั่วโมงเช็คที ประสาทกูจะกลับไม่เป็นอันนอนกันล่ะคืนนี้

แม่ของลูกผมก็ใช่ย่อย ที่ทำงานอยู่แถวๆพระโขนง บอกผมจะซื้อรถเก๋งขับไปทำงานสักคัน ผมเลยเหน็บให้ นี่คุณอย่าหาเรื่องใส่ตัวเลย ทำงานทั้งวันก็เหนื่อยอยู่แล้ว เลิกงานจะต้องมาทนนั่งขับรถกลับบ้านอีก รถก็ติดเป็นตังเม ขับเคลื่อนได้ทีละเมตรสองเมตรชวนให้ง่วงนอน บ้านเราอยู่ต้นทางรถตู้ ค่ารถแค่ 25 บาทเอง คุณขึ้นรถได้ก็นอนหลับให้สบายไปเลย พอถึงบ้านคนขับก็ปลุกเองแหละ คนรู้จักกันทั้งนั้น คุณจะไปไหนก็แท็กซี่นั่นแหละ ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลหาที่จอดรถ จอดแล้วก็กลัวหายอีก อะไรไม่ว่า เกิดขับรถไปเฉี่ยวชนใครเข้าก็เดือดร้อนกันอีก เสียทั้งเงินทั้งเวลาไปปลี้ๆเปล่าๆ

“ไหนจะค่าน้ำมัน ค่าซ่อม ค่าอะไหล่ ค่าใช้จ่ายอีกสารพัดจิปาถะ” คุณหมออุดมเสริม “เดี๋ยวก็นอนไม่หลับสะดุ้งตื่นมาเช็ครถอีก ลงท้ายก็เดือดร้อนคนนอนข้างๆ...”

ถูกต้อง...ถูกต้องครับ

อย่างน้อยๆคุณหมอคงจะมีประสบการณ์มาแล้ว อิอิ...

 
 
ทำอย่างไรชีวิตจึงจะไม่มีทุกข์?
http://xchange.teenee.com/index.php?showforum=9

ครั้งหนึ่งได้มีผู้ไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า คำสอนทั้งหมดของพระองค์จะสรุปลงได้ว่าอย่างไร?

ซึ่งพระองค์ทรงตรัสตอบว่า คำสอนโดยสรุปของพระองค์นั้นสรุปอยู่ในประโยคที่ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวเรา-ของเรา”

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้หมายถึงอะไรบ้าง? ก็หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างไม่เว้นสิ่งใด โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นชีวิตจิตใจของเราเองก็ยึดถือไม่ได้ ยิ่งเป็นทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา หรือสามีก็ยิ่งยึดถือไม่ได้

ทำไมจึงยึดถือไม่ได้ ก็ในเมื่อมันเป็นตัวเรา-ของเรา ไม่ได้เป็นของคนอื่นนี่นา?

ซึ่งเหตุที่ยึดถือไม่ได้ก็เพราะ แท้จริงสิ่งทั้งหลายนั้นมันเป็นเพียง “สิ่งที่ธรรมชาติปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้นมาตามเหตุตามปัจจัยเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น” หาได้เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรหรือตั้งอยู่ตลอดไปตามที่เราต้องการไม่

เมื่อสิ่งที่เรารัก เราพอใจยังคงอยู่กับเรา เราก็ยังพอที่จะมีความสุขอยู่บ้าง แต่พอสิ่งที่เรารัก เราพอใจนั้นเปลี่ยนแปลงไป หรือพลัดพรากจากเราไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ซึ่งเราก็ไม่สามารถห้ามมันได้ ก็จะทำให้ตัวเราที่ไปยึดถือนั้นเป็นทุกข์ตามไปด้วย ถ้ารักน้อยก็ทุกข์น้อย ถ้ารักมากก็ทุกข์มาก ถ้ารักหมดชีวิตก็เป็นทุกข์หมดชีวิตเหมือนกัน

อย่างเช่นถ้าสิ่งที่เรารักยิ่ง หรือคนที่เรารักมากได้จากเราไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เราก็ย่อมที่จะมีความเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวง จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือแทบจะฆ่าตัวตายก็ได้ ถ้าสิ่งนั้นเรารักมากจนหมดชีวิต

หรือถ้าเราแก่เฒ่าลง ความแก่ชราของร่างกายย่อมเป็นที่น่ารังเกียจทั้งแก่ตัวเราเองและแก่ผู้อื่น คนที่แก่เฒ่าจึงมีแต่ความเศร้าซึม ที่เรียกว่าเป็นโรคซึมเศร้า

หรือคนที่เจ็บป่วยหรือพิกลพิการตาบอด หูหนวก ที่นอนซมอยู่ มีทุกข์ทางกายอยู่ มีความยากลำบากทางกายอยู่ ก็ย่อมที่จะมีความทุกข์ตรม หรือเศร้าใจ หรือเบื่อหน่ายชีวิต

หรือแม้คนที่รู้ตัวว่าจะต้องตายในเร็ววัน ก็ย่อมที่จะเศร้าโศกเสียใจอย่างยิ่ง ที่ต้องพลัดพรากจากทุกสิ่งที่รักที่พอใจไปอย่างไม่มีวันได้กลับมาอีก เป็นต้น

หรืออย่างน้อย ถ้าสิ่งที่รักยังไม่จากเราไป มันก็ทำให้เราต้องเป็นห่วง กังวล เครียด หรือต้องลำบากคอยติดตามดูแลรักษาอยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็ทำให้เราต้องเกิดความทุกข์เล็กๆน้อยอยู่เสมอ

อีกทั้งถ้ายังต้องทำงานมากขึ้นเพื่อหาทรัพย์มาเลี้ยงดูสิ่งที่เรารัก ก็ทำให้เพิ่มความเหนื่อยยากให้มากขึ้นอีก ถ้าเพียงกินน้อยใช้น้อยก็ยังไม่ต้องเหนื่อยยากเท่าไร แต่ถ้าสิ่งที่เรารักกินมากใช้มากเกินความจำเป็น ก็ทำให้เราต้องเหนื่อยยากมากขึ้น

บางทีถ้าบำรุงบำเรอสิ่งที่เรารักไม่เป็นที่พอใจ สิ่งที่เรารักก็อาจจะจากเราไปได้ จึงทำให้เราต้องทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม อันเป็นเหตุให้ถูกโทษหรือสังคมประณาม ซึ่งก็ทำให้ต้องมีความทุกข์ใจมากขึ้นอีก

ความทุกข์นั้นก็มีทั้งอย่างรุนแรง คือทำให้เศร้าโศก เสียใจ ทุกข์ทรมานใจ ร้อนใจ และอย่างกลางๆคือเครียด กลุ้มใจ หนักใจ กระวนกระวายใจ เบื่อหน่ายไม่สบายใจ

รวมทั้งอย่างบางๆคือเป็นเพียงความหงุดหงิดรำคาญใจ หรือไม่สงบ ขุ่นมัว ไม่แจ่มใส ว้าวุ่นใจ ลังเลสงสัย และความฟุ้งซ่านจนน่ารำคาญ รวมทั้งความหดหู่เซื่องซึม

ซึ่งปรกติในวันหนึ่งๆนั้นเราจะถูกความทุกข์ชนิดบางๆนี้ครอบงำอยู่เกือบจะทั้งวัน และที่เหลือส่วนมากก็จะมีอย่างกลางๆเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเราก็คงพอทนกันได้

ส่วนความทุกข์ที่รุนแรงนั้นนานๆจึงจะเกิดขึ้น ถ้าความทุกข์ที่รุนแรงเกิดขึ้นบ่อยๆหรือนานๆ ตลอดทั้งวันเราก็คงเป็นบ้าตายกันไปหมดแล้ว

ซึ่งความทุกข์ทั้งหมดนี้ล้วนมีสาเหตุมาจากความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราทั้งสิ้น คือเพราะมีความรัก และมีของรักจึงได้มีทุกข์ และในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่มีความรักใดๆและไม่มีของรัก ก็จะไม่มีทุกข์ ซึ่งจิตที่ไม่มีทุกข์นั้นเราก็รู้กันอยู่แล้วว่ามันรู้สึกอย่างไร ซึ่งมันก็ตรงข้ามกับความรู้สึกที่เป็นทุกข์ คือสงบ เย็น เบา ปลอดโปร่ง แจ่มใส ซึ่งในทางศาสนาจะเรียกว่า นิพพานนั่นเอง

บางคนอาจกล่าวว่า “จริงอยู่ที่ว่า ‘สิ่งที่รักทำให้เกิดความทุกข์’ แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อสิ่งที่รักนั้นมันให้ความสุขแก่เรา และเราก็ติดใจหลงใหลในความสุขนั้นเสียแล้วจนห้ามใจไม่ได้ ถึงจะมีความทุกข์ตามมามากมายในภายหลังก็ยอมรับได้ ซึ่งก็คงจะดีกว่าถ้าไม่มีสิ่งที่รักหรือไม่มีความรัก ชีวิตก็คงจะแห้งเหี่ยวหรือเป็นทุกข์มากกว่าการที่เราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักนั้นไปเป็นแน่ ใช่หรือไม่?”

ถ้าใครคิดว่า “ยอมเป็นทุกข์เพื่อแลกกับความสุขจากการมีความรัก” ก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ถ้าใครคิดว่ามันไม่คุ้มกันกับการที่มีความสุขเพียงเล็กน้อย แต่ต้องมีความทุกข์อย่างมากมายเป็นผล ก็ลองมาศึกษาวิธีการเอาชนะความรักนี้ดู เผื่อบางทีเราอาจจะอยู่เหนืออำนาจของความรักได้ ไม่เป็นทาสของความรัก ให้ความรักมันกดขี่ ข่มเหง บีบคั้น หรือใช้ทำงานหนักเหมือนกับเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ที่น่าสงสารได้

มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วก็เป็นธรรมดาที่ชีวิตต้องการความสุข ซึ่งความสุขก็เกิดขึ้นได้จากการเห็นรูป, ฟังเสียง, ดมกลิ่น, ลิ้มรส, สัมผัสทางผิวกาย, และคิดนึกทางจิตใจ

แต่ถ้าจะสรุปแล้วความสุขของโลกก็มีอยู่ ๓ ประเภท คือ (๑) เรื่องกาม คือสุขจากเรื่องของสวยของงาม น่ารักน่าใคร่ น่าพอใจทั้งหลาย โดยมีจากเพศตรงข้ามเป็นสิ่งสูงสุด (๒) เรื่องกิน ซึ่งหมายถึงเรื่องวัตถุที่ไม่ใช่กาม แต่เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น วัตถุเครื่องใช้ ทรัพย์สิน เงินทอง บ้าน รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เป็นต้นและ (๓) เรื่องเกียรติ คือเรื่องเกียรติยศ ชื่อเสียง ความเด่นดัง ความมีอำนาจ

สิ่งทั้ง ๓ คือ กาม กิน เกียรติ นี้เรียกว่าเป็นวัตถุนิยม คือเป็นที่ตั้งของความนิยมชมชอบของคนทั้งหลายในสังคม ผู้คนทั้งหลายล้วนแสวงหาความสุขจากวัตถุนิยมเหล่านี้ คนที่เป็นคนดีก็แสวงหาในทางที่ดี ส่วนคนที่ชั่วก็แสวงหาในทางที่ชั่ว บางคนก็แสวงหาทั้งในทางทีดีและชั่วปะปนกัน การแสวงหาในทางทีดีก็คือไม่เอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเป็นสุข ส่วนในทางที่ชั่วก็คือเอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเป็นทุกข์

วัตถุนิยมทั้งหลายนี่เองที่เป็นสิ่งที่ให้ความสุขและทำให้เราเกิดความรัก ความพอใจ และลุ่มหลงติดใจอย่างยิ่ง ซึ่งการที่จะเอาชนะความรักความพอใจในสิ่งเหล่านี้ได้ก็ต้องใช้แรงดันกับแรงดึง ซึ่งแรงดันก็คืออำนาจที่จะผลักให้เราออกไปจากความติดใจหลงใหลในสิ่งที่รักที่เป็นวัตถุนิยม ส่วนแรงดึงก็คืออำนาจที่จะดึงเราให้ไปรักหรือพอใจในสิ่งอื่นที่ให้ความสุขเหมือนกันแต่ว่าไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษเหมือนกับสิ่งที่รักหรือวัตถุนิยม

สิ่งที่จะเป็นแรงดันนั้นก็คือทุกข์และโทษจากที่ได้บรรยายไปแล้วตอนต้น ซึ่งเราจะต้องหมั่นพิจารณาให้มากอยู่เสมอ จนจิตเกิดความเบื่อหน่ายต่อความสุขจากวัตถุนิยม หรือกลัวต่อทุกข์และโทษของมันทั้งที่อาจจะกำลังเกิดอยู่จริง และหรือที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

ส่วนแรงดึงนั้นก็คือความสุขที่ดีกว่า หรือมีทุกข์ มีโทษน้อยกว่า โดยเริ่มจากการละเว้นเรื่องกามก่อน เพราะมีโทษมากกว่าเรื่องกิน คือให้พิจารณาเห็นโทษจากการมีคู่ หรือมีคนรัก หรือจากการมีเพศสัมพันธ์ให้มาก เช่น ถึงได้คู่ครองดีก็ต้องมีภาระมากขึ้น ทำงานหนักมากขึ้น ต้องทนอยู่ด้วยกันไปจนตลอดชีวิตเพราะความรักจางคลายลงไปแล้ว ต้องลำบากในการมีลูก ในการเลี้ยงดูลูก ต้องเอาใจคู่ครองหรือครอบครัวของคู่ครอง เป็นต้น แต่ถ้าได้คู่ครองไม่ดีก็ต้องเครียด ต้องปวดหัว ต้องเป็นทุกข์ ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งอาจจะทำร้าย หรือนำโรคร้ายแรงมาให้เราได้ เป็นต้น

เมื่อเห็นทุกข์และโทษจากเรื่องกามแล้วก็ไปแสวงหาความสุขจากเรื่องกิน หรือเรื่องวัตถุสิ่งของที่ไม่ใช่เรื่องกามแทน ที่มีโทษน้อยกว่า เช่น สะสมวัตถุสิ่งของที่ชื่นชอบ ปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์เลี้ยง วาดรูป เขียนหนังสือ ฝึกซ่อมเครื่องใช้ต่างๆ หรือรับจ้างทำงานพิเศษที่ตนเองถนัด หรือคิดค้นประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น หรือใครที่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษาหรือทำหน้าที่การงานอยู่ ก็มุ่งมั่นอยู่แต่ในเรื่องการเรียน หรือการทำงานโดยไม่สนใจเรื่องเพศตรงข้ามก็ยิ่งดี ก็จะทำให้หลุดพ้นจากเรื่องกามได้โดยง่าย

แต่เรื่องกินก็ยังมีโทษ เช่น ทำให้ห่วงกังวลกลัวจะสูญหาย หรืออาจจะไม่ได้ผลดังที่เราคาดหวังไว้ก็ได้ หรือถ้าเกิดความสูญเสียไปเราก็ยังเป็นทุกข์ หรืออาจเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาก็ได้ หรือเมื่อเราต้องจากมันไปเราก็ยังเป็นทุกข์อยู่ดี เป็นต้น

และเมื่อเห็นโทษของเรื่องกินแล้วก็ให้เปลี่ยนมาแสวงหาความสุขจากเรื่องเกียรติแทน คือ การสร้างคุณงามความดีให้สังคมยกย่อง เช่น ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ตนเองมีแก่คนด้อยโอกาส ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก อุทิศตนเพื่อสังคม เป็นต้น ซึ่งก็จะทำให้จิตหลุดพ้นจากเรื่องกินได้

แต่เรื่องเกียรติก็ยังมีโทษ เช่น อาจไม่ได้มีคนยกย่องเสมอไป ถ้าเกิดถูกคนกลั่นแกล้งนินทาว่าร้ายก็อาจทำให้ถูกสังคมดูหมิ่นดูแคลนได้ และแม้ความมีเกียรติก็ต้องขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคม ดังนั้นแน่นอนว่าในอนาคตสังคมก็ย่อมที่จะลืมเลือน แล้วเราก็ต้องกลายเป็นคนต่ำต้อยด้อยเกียรติขึ้นมาทันที แล้วเราก็ต้องเป็นทุกข์อีกจนได้ และถ้าเราจะตายเราก็ยังเป็นทุกข์อยู่อีกนั่นเอง เป็นต้น

แล้วอะไรที่จะดึงเราให้หลุดพ้นจากอำนาจของเรื่องเกียรติได้?

คำตอบก็คือ “ปัญญา ศีล สมาธิ”

ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญญาก็คือ ความรอบรู้เรื่องการดับทุกข์ โดยมีหัวใจอยู่ที่ความเข้าใจว่า “แท้จริงมันไม่มีตัวเราอยู่จริง”

ส่วนศีลก็คือการรักษากายกับวาจาของเราไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น

ส่วนสมาธิก็คืออาการที่จิต “ไม่มีความยึดถือว่ามีตัวเราอยู่อย่างมั่นคง”

ซึ่ง “ปัญญา ศีล สมาธิ” นี้สามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากอำนาจของความสุขจากวัตถุนิยมทั้งหลายได้อย่างถาวรเลยทีเดียว

จุดสำคัญอันดับแรกก็คือ เราจะต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า ความจริงแล้วร่างกายและจิตใจทั้งของเราและของผู้อื่น รวมทั้งของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนี้ เป็นเพียง “สิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาจากเหตุปัจจัยหลายๆอย่างเท่านั้น”

ดังนั้นเมื่อมันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้นมา มันจึงไม่มีอะไรที่จะมาเป็นตัวตนของมันเองได้เลย(อนัตตา) และเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ไม่สามารถที่จะตั้งอยู่อย่างถาวรหรือคงอยู่ไปชั่วนิรันดรได้(อนิจจัง) และไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องแตกสลายหรือดับหายไปอย่างแน่นอน ซ้ำเมื่อยังตั้งอยู่ มันก็ยังต้องมีแต่ความยากลำบากในการดำรงชีวิต(ทุกขัง)อยู่อีกด้วย

ความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา นี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เพราะความรู้นี้เป็นความรู้ที่จะช่วยให้เรามองเห็นความจริงของธรรมชาติเรื่องที่ว่าทำไมจึงยึดถือสิ่งทั้งหลายโดยเฉพาะร่างกายและจิตใจของเรา(ตามที่สมมติเรียก)เองนี้ไม่ได้

ถ้าใครยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็เท่ากับยังไม่รู้จักพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแท้จริง และไม่มีทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง และเมื่อมีความเข้าใจเรื่องนี้แล้ว การปฏิบัติศีลกับสมาธิก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงเรียนรู้หลักการนิดหน่อยก็สามารถไปปฏิบัติเองได้ทันทีโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับใคร หรือไม่ต้องมีพิธีรีตรองใดๆ

และถึงแม้เราจะเป็นชนชาติใด ภาษาใด หรือนับถือลัทธิศาสนาใดอยู่ก็ตาม ถ้ามีความเข้าใจหลักการดับทุกข์นี้แล้ว ก็สามารถนำหลักการนี้ไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ภายนอก หรือการกระทำทางกายและวาจาใดๆ คือทุกอย่างภายนอกจะเหมือนเดิม จะเปลี่ยนแปลงก็เพียงจิตใจที่มีความเข้าใจต่อธรรมชาติอย่างถูกต้องขึ้นเท่านั้น

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้



วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

41 10โรคร้ายที่น่ากลัว...(โรคที่7 ถึงโรคที่10)


คลิกที่นี่...(โรคที่1 ถึงโรคที่6)


7. โรคไต

หมายถึง โรคอะไรก็ได้ที่มีความผิดปกติหรือที่เรียกว่า พยาธิสภาพ เกิดที่บริเวณไต ที่พบมากได้แก่ โรคไตวายฉับพลันจากเหตุต่างๆ โรคไตวายเรื้อรังเกิดตามหลังโรคเบาหวาน โรคไตอักเสบ หรือโรคความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบเนโฟรติก โรคไตอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันสับสน (โรคเอส.แอล.อี.) โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคถุงน้ำที่ไต (Polycystic Kidney Disease)

อาการ:

ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคไต แต่ก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้ โดยจะปัสสาวะเป็นเลือด อาจเป็นเลือดสดๆ เลือดเป็นลิ่มๆ ปัสสาวะเป็นสีแดง สีน้ำ ล้างเนื้อ สีชาแก่ๆ หรือปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มก็ได้

ปัสสาวะเป็นฟองมาก เพราะมี albumin หรือโปรตีนออกมามาก จะทำให้ปัสสาวะมีฟองขาวๆเหมือนฟองสบู่ การมีปัสสาวะเป็นเลือด พร้อมกับมีไข่ขาว-โปรตีนออกมาในปัสสาวะพร้อมๆกัน เป็นข้อสันนิษฐานที่มีน้ำหนักมากว่าจะเป็นโรคไต

ปัสสาวะขุ่น อาจเกิดจากมี เม็ดเลือดแดง (ปัสสาวะเป็นเลือด) เม็ดเลือดขาว (มีการอักเสบ) มีเชื้อแบคทีเรีย (แสดงว่ามีการติดเชื้อ) หรืออาจเกิดจากสิ่งที่ร่างกายขับออกจากไต แต่ละลายได้ไม่ดี เช่นพวกผลึกคริสตัลต่างๆ เป็นต้น

การผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ เช่นการถ่ายปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบ ปัสสาวะราด เบ่งปัสสาวะ อาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่นกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากและท่อทางเดินปัสสาวะ

การปวดท้องอย่างรุนแรง (colicky pain) ร่วมกับการมีปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่น หรือมีกรวดทราย แสดงว่าเป็นนิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะ

การมีก้อนบริเวณไต หรือบริเวณบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง อาจเป็นโรคไตเป็นถุงน้ำ การอุดตันของไต หรือเนื้องอกของไต การปวดหลัง ในกรณีที่เป็นกรวยไตอักเสบ จะมีอาการไข้หนาวสั่นและปวดหลังบริเวณไตคือบริเวณสันหลังใต้ซี่โครงซีกสุดท้าย

อาการบวม โดยเฉพาะการบวมที่บริเวณหนังตาในตอนเช้า หรือหน้าบวม ซึ่งถ้าเป็นมากจะมีอาการบวมทั่วตัว อาจเกิดได้ในโรคไตหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อย โรคไตอักเสบชนิดเนฟโฟรติค ซินโดรม (Nephrotic Syndrome) ความดันโลหิตสูง เนื่องจากไตสร้างสารควบคุมความดันโลหิต ประกอบกับไต มีหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เพราะฉะนั้นความดันโลหิต สูงอาจเป็นจากโรคไตโดยตรง หรือในระยะไตวายมากๆ ความดันโลหิตก็จะสูงได้

ซีดหรือโลหิตจาง เช่นเดียวกับความดันโลหิตสูง สาเหตุของโลหิตจางมีได้หลายชนิด แต่สาเหตุที่เกี่ยวกับโรคไตก็คือ โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure) เนื่องจากปกติไตจะสร้างสารอีริโธรโปอีติน (Erythopoietin) เพื่อไป กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อเกิดไตวายเรื้อรังไตจะไม่สามารถ สร้างสารอีริโธรโปอีติน (Erythopoietin) ไปกระตุ้นไขกระดูก ทำให้ซีดหรือ โลหิตจาง มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลมบ่อยๆ

อย่างไรก็ตามควรต้องไปพบแพทย์ ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เอ็กซ์เรย์ จึงจะพอบอกได้แน่นอนขึ้นว่าเป็นโรคไตหรือไม่

สาเหตุ:

เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital) เช่นมีไตข้างเดียวหรือไตมีขนาดไม่เท่ากัน โรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic kidney disease) ซึ่งเป็น กรรมพันธุ์ด้วย เป็นต้น

เกิดจากการอักเสบ (Inflammation) เช่นโรคของกลุ่มเลือดฝอยของไตอักเสบ (glomerulonephritis)

เกิดจากการติดเชื้อ (Infection) เกิดจากเชื้อแบคที่เรียเป็นส่วนใหญ่ เช่นกรวยไตอักเสบ ไตเป็นหนอง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (จากเชื้อ โรค) เป็นต้น

เกิดจากการอุดตัน (Obstruction) เช่นจากนิ่ว ต่อมลูกหมากโต มะเร็งมดลูกไปกดท่อไต เป็นต้น

เนื้องอกของไต ซึ่งมีได้หลายชนิด

คำแนะนำ:

1. กินอาหารโปรตีนต่ำ หรืออาหารโปรตีนต่ำมากร่วมกับกรดอะมิโนจำเป็น โดยกินอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง ซึ่งหมายถึงโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์ทุกชนิดจำนวน 0.6 กรัม ของโปรตีน/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยไม่ต้องให้กรดอะมิโนจำเป็น หรือกรดคีโต (Keto Acid) เสริม เพราะอาหารโปรตีนในขนาดดังกล่าวข้างต้นให้กรดอะมิโนจำเป็นในปริมาณที่พอเพียงกับความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว

ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยซึ่งมีน้ำหนักตัวเฉลี่ย ประมาณ 50-60 กิโลกรัม ควรกินอาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูงประมาณ 30-60 กรัม/วัน อาจจำกัดอาหารโปรตีน เพื่อชะลอการเสื่อมหน้าที่ของไตได้อีกวิธีหนึ่งโดยให้ผู้ป่วยกินอาหารโปรตีนต่ำมาก (0.4 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน) ร่วมกับกรดอะมิโนจำเป็นหรืออนุพันธ์คีโต (Keto Analog) ของกรดอะมิโนจำเป็น ในกรณีผู้ป่วยมีน้ำหนักเฉลี่ยน 50-60 กิโลกรัม ควรกินโปรตีนประมาณ 20-25 กรัม/วัน เสริมด้วยกรดอะมิโนจำเป็น หรืออนุพันธ์ครีโตของกรดอะมิโนจำเป็น 10-12 กรัม/วัน

2. กินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลต่ำ โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังควรควบคุมปริมาณโคเลสเตอรอล ในอาหารแต่ละวันไม่ให้เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน ด้วยการจำกัดอาหารที่มีโคเลสเตอรอลมาก เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ทุกชนิด และนม เป็นต้น

3. งดกินอาหารที่มีฟอสเฟตสูง ฟอสเฟตมักพบในอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง นม และเมล็ดพืชต่างๆ เช่น ถั่วลิสง เม็ดทานตะวัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดอัลมอนด์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว พบว่าอาหารที่มีฟอสเฟตสูง จะเร่งการเสื่อมของโรคไตวายเรื้อรังให้รุนแรงมากขึ้น และมีความรุนแรงของการมีโปรตีนรั่วทางปัสสาวะมากขึ้น นอกเหนือจากผลเสียต่อระบบกระดูกดังกล่าวข้างต้น

4. ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ไม่มีอาการบวม การกินเกลือในปริมาณไม่มากนัก โดยไม่ต้องถึงกับงดเกลือโดยสิ้นเชิง แต่ไม่ควรกินเกลือเพื่อการปรุงรสเพิ่ม ผู้ป่วยที่มีอาการบวมร่วมด้วย ควรจำกัดปริมาณเกลือที่กินต่อวันให้น้อยกว่า 3 กรัมของน้ำหนักเกลือแกง (เกลือโซเดียมคลอไรด์) ต่อวัน ซึ่งทำได้โดยกินอาหารที่มีรสชาดจืด งดอาหารที่มีปริมาณเกลือมาก ได้แก่ เนื้อสัตว์ทำเค็ม หรือหวานเค็ม เช่น เนื้อเค็ม ปลาแห้ง กุ้งแห้ง รวมถึงหมูแฮม หมูเบคอน ไส้กรอก ปลาริวกิว หมูสวรรค์ หมูหยอง หมูแผ่น ปลาส้ม ปลาเจ่า เต้าเจี้ยว งดอาหารบรรจุกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง เนื้อกระป๋อง

5. ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่มีน้ำหนักเกินน้ำหนักจริงที่ควรเป็น (Ideal Weight for Height) ในคนปกติ ควรจำกัดปริมาณแคลอรีให้พอเพียงในแต่ละวันเท่านั้น คือ ประมาณ 30-35 กิโลแคลอรี/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน


8. โรคหัวใจ

ชนิดและสาเหตุของโรคหัวใจ

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ความผิดปกตินี้อาจเกิดขึ้นกับทุกส่วนของหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจหรือตัวห้องหัวใจเอง มีสภาพไม่สมบูรณ์

โรคลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจพิการอาจเป็นแต่กำเนิดหรือมาเป็นภายหลังได้ ที่มาเป็นภายหลังส่วนมาก เกิดจากการติดเชื้อคออักเสบ และไม่ได้รับการรักษา อย่างถูกต้อง ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อต้านหัวใจตัวเอง เกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ และ เกิดลิ้นหัวใจพิการ (ตีบ รั่ว) ตามมา นอกจากนั้นลิ้นหัวใจพิการยัง อาจเกิดจากการติดเชื้อที่หัวใจโดยตรง หรือเกิดจากการเสื่อมของลิ้นหัวใจเอง โดยมากแล้วเราสามารถผ่าตัดแก้ไขได้

โรคกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติไม่ว่าจะบีบ หรือ คลายตัว กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ เป็นต้น โรคที่พบบ่อย คือ กล้ามเนื้อหัวใจเสีย เนื่องจากความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษามานาน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย บางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เป็นต้น

โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด เป็นโรคกลุ่มเดียวกัน เพราะหลอดเลือดหัวใจจะนำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อหลอดเลือดผิดปกติจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การทำงานจึงผิดปกติ โรคของหลอดเลือดหัวใจอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการสะสม ของไขมันที่ผนัง ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและตันในที่สุด (ไม่ใช่มีก้อนไขมันในเลือดลอยไปอุดตัน ตามที่เข้าใจกัน)

โรคเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นโรคที่พบไม่บ่อย ส่วนใหญ่เกิดการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรีย หรือ เชื้อวัณโรค

โรคนี้ส่วนใหญ่รักษาได้ ยกเว้นกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายมายังเยื่อหุ้มหัวใจ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ กลุ่มนี้มีหลายชนิดมาก บางชนิดไม่เป็นอันตราย บางชนิดอันตรายมาก (ส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ร้ายแรง มักมีความผิดปกติ ของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจด้วย) สาเหตุเกิดจากระบบไฟฟ้าในหัวใจทำงานผิดปกติไป เช่น มีจุดกำเนิด ไฟฟ้าแปลกปลอมขึ้น หรือ เกิดทางลัด (เรียกง่ายๆว่า ไฟช็อต) ในระบบ เป็นต้น

การติดเชื้อที่หัวใจ พบได้บ่อยในผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำ หรือ ติดยาเสพติดชนิดฉีด โดยมากเกิดการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ซึ่งจะเป็นปัญหาในการรักษา อย่างมาก โรคหัวใจในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีลักษณะของโรคหลากหลายมาก

อาการ: เจ็บหน้าอก

1. เจ็บแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก อาจจะเป็นด้านซ้าย หรือ ทั้งสองด้าน (มักจะไม่เป็นด้านขวาด้านเดียว) บางรายจะร้าวไปที่แขนซ้าย หรือทั้งสองข้าง หรือจุกแน่นที่คอ บางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน เกิดขึ้นขณะออกกำลัง เช่น เดินเร็วๆ รีบ หรือขึ้นบันได วิ่ง โกรธโมโห อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อหยุดออกกำลัง

2. เจ็บแหลมๆคล้ายเข็มแทง เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจุดเดียว กดเจ็บบริเวณหน้าอก อาการหอบ เหนื่อยง่าย เวลาออกแรงใจสั่น หมายถึง การที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ หรือ เต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นๆหยุดๆ

ขาบวม เกิดจากการที่หัวใจด้านขวาทำงานลดลง เลือดจากขาไม่สามารถ ไหลเทเข้าหัวใจด้านขวาได้โดยสะดวก จึงมีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้น เป็นลม วูบ หมายถึง การหมดสติ หรือ เกือบหมดสติ ชั่วขณะ โดยอาจรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองไม่เห็นภาพชัดเจน โดยอาการเป็นอยู่ชั่วขณะ

คำแนะนำ:

1. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง

2. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม

3. เน้นอาหารที่มีเส้นใย (fiber)

4. เลิกบุหรี่

5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

6. ควบคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูง

7. ทำจิตใจให้ผ่องใส


9. โรคกระดูกพรุน หรือ osteoporosis

คือภาวะที่เนื้อกระดูกของร่างกายลดลงอย่างมาก และเป็นผลให้โครงสร้างของกระดูกไม่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดีเช่นเดิม โรคกระดูกพรุนเป็นโรคของผู้สูงอายุ โดยปกติร่างกายเราจะมีกระบวนสร้างและสลายกระดูก เกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิน 40 ปี กระบวนสร้างจะ ไม่สามารถไล่ทันกระบวนสลายได้ นอกจากนั้น เมื่ออายุมากขึ้นการดูดซึมของทางเดินอาหาร จะเสื่อมลงทำให้ร่างกายต้องดึงสารแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ ผลคือ ร่างกายต้องสูญเสียปริมาณเนื้อกระดูกมากขึ้น

ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

- หญิงวัยหมดประจำเดือน

- การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้กระดูกสลายตัวในอัตราที่เร็วขึ้น

- ผู้สูงอายุ

- โรคกระดูกพรุนถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์ ตามสถิติพบว่า ชนชาวเอเชียและคนผิวขาว มีโอกาสเป็นโรคได้มากกว่าคนผิวดำ

- รูปร่างเล็ก ผอม

- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอ

- ออกกำลังน้อยไป

- สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ชา กาแฟ

- ใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อการสลายเซลล์กระดูก เช่น สเตียรอยด์

- เป็นโรคเรื้อรัง เช่น ไขข้ออักเสบ โรคไต

- รับประทานอาหารจำพวกโปรตีนและอาหารมีกากมากเกินไป

- รับประทานอาหารเค็มจัด

อาการของโรคกระดูกพรุน

ระยะแรกมักไม่มีอาการ เมื่อเริ่มมีอาการแสดงว่าเป็นโรคมากแล้ว อาการสำคัญของโรค ได้แก่ ปวดตามกระดูกส่วนกลางที่รับน้ำหนัก เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย ต่อมาความสูงของลำตัวจะค่อยๆลดลง หลังจะโก่งค่อม หากหลังโก่งค่อมมากๆจะทำให้ปวดหลังมากเสียบุคลิก เคลื่อนไหวลำบากระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหารถูกรบกวน เมื่อเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ จะหายยาก ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ท้องอืดเฟ้อ และท้องผูกเป็นประจำ

โรคแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุดของโรคกระดูกพรุน คือ กระดูกหัก บริเวณที่พบมากได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ ซึ่งหากที่กระดูกสันหลังหัก จะทำให้เกิดอาการปวดมาก จนไม่สามารถ เคลื่อนไหว ไปไหนได้

การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน

วิธีที่ดีที่สุดคือ การเสริมสร้างเนื้อกระดูกของร่างกายให้มากที่สุดตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างไรก็ตาม คนทุกวัยควรให้ความสนใจในการป้องกันโรคกระดูกพรุนด้วยการปฏิบัติตนดังนี้

- รับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ตามหลักโภชนาการ

- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต กุ้งแห้งตัวเล็ก กุ้งฝอย ไม่รับประทานเนื้อสัตว์มากเกินไป

- เลี่ยงอาหารเค็มจัด

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการสร้างกระดูก และทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง

- การทรงตัวดี ป้องกันการหกล้มได้

- หลีกเลี่ยงบุหรี่ สุรา ชา กาแฟ

- เลี่ยงยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์

- ระมัดระวังตนเองไม่ให้หกล้ม

การใช้ยาในการป้องกันและรักษาจะแตกต่างกันตามปัจจัยต่างๆในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น อายุ เพศ และระยะเวลาหลังการหมดประจำเดือน

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน

การวินิจฉัยโรคนี้ในระยะเริ่มแรก ทำได้โดยการตรวจความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องวัดความหนาแน่น ของกระดูก (BoneDensitometer) การตรวจนี้เป็นการตรวจโดยใช้แสงเอกซเรย์ที่มีปริมาณน้อยมากส่องตามจุดต่างๆที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร ์คำนวณหาค่าความหนาแน่น ของกระดูกบริเวณต่างๆเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน สตรีอายุ 40 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางรายที่มีความเสี่ยง ได้แก่ รูปร่างผอม ดื่มเหล้า กาแฟ สูบบุหรี่ ทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย ไม่ออกกำลังเป็นประจำ หรือ รับประทานยาสเตียรอยด์ ควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่น ของกระดูกเป็นประจำทุกปี

 
10. อัมพฤกษ์ อัมพาต

จากโรคหลอดเลือดในสมอง

โรคหลอดเลือดในสมองเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจและมะเร็ง ซึ่งหากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีชีวิตอยู่ก็มักจะมีความพิการหลงเหลืออยู่ได้แก่ อัมพฤกษ์ อัมพาต นั่นเอง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมองแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขและควบคุมได้ มักสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผสมอยู่ ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ความเครียด ความอ้วน

ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้ ได้แก่ อายุ จากการศึกษาพบว่าโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองจะมากขึ้น ตามอายุที่เพิ่มขึ้น เพศ เชื้อชาติ และกรรมพันธุ์

อาการเริ่มต้นของอัมพฤกษ์ ที่สังเกตได้และควรไปพบแพทย์ ดังนี้คือ

1. เกิดอาการชาหรือไม่มีแรง ตามใบหน้า แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย

2. พูดไม่ได้ชั่วขณะ หรือลำบากในการพยายามพูด

3. ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวไปชั่วขณะ

4. เวียนศีรษะโดยไม่มีสาเหตุหรือทรงตัวไม่ได้

โรคหลอดเลือดในสมองป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงและควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังนี้ คือ

1. การรับประทานอาหารที่ถูกต้อง โดยรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและมีปริมาณเพียงพอ ลดอาหารเค็มหรือเกลือ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดแข็งได้ รับประทานอาหารที่มี กากใยสูงเป็นประจำ เช่น ผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมากโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว เช่น มันหมู มันไก่ ไข่แดง และกะทิมะพร้าว รวมทั้งอาหารที่หวานจัดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ระดับไขมันในเลือดสูงได้

2. งดสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มีสารนิโคติน ซึ่งสารนี้จะทำให้หัวใจเต้นเร็วหลอดเลือดหดตัว ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วจะทำให้ เกิดอันตรายได้

3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะช่วยคลายเครียด ลดไขมัน และลดความดันโลหิตนอกจากนี้ยังทำให้ สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย

4. การควบคุมน้ำหนัก ความอ้วนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้หลายอย่าง เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง และทำให้เกิดโรคเบาหวานได้

5. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์

6. ควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากพบว่าท่านป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ


40 10โรคร้ายที่น่ากลัว...(โรคที่1 ถึงโรคที่6)

1. โรคเบาหวาน

หมายถึง ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างหรือใช้อินซูลินได้อย่างเหมาะสมกับ ความต้องการของร่างกาย โดยปกติอินซูลิน มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานของร่างกาย สาเหตุที่แท้จริงของโรคเบาหวานยังไม่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้คือ พันธุกรรม และแบบแผนการดำเนินชีวิต ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิด โรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ตาบอด หรือมีการทำลายของเส้นประสาท

อาการ:

ปัสสาวะจะบ่อยมากขึ้นถ้าระดับน้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่า 180 ม.ก.% โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ผู้ป่วยจะหิวน้ำบ่อยเนื่องจากต้องทดแทนน้ำที่ถูกขับออกทางปัสสาวะ อ่อนเพลีย น้ำหนักลดเกิดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลจึงย่อยสลายส่วนที่เป็นโปรตีนและไขมันออกมา ผู้ป่วยจะกินเก่งหิวเก่งแต่น้ำหนักจะลดลง อาการอื่นๆที่อาจเกิดได้แก่ การติดเชื้อ แผลหายช้า คัน เห็นภาพไม่ชัด ชาไม่มีความรู้สึก เจ็บตามแขนขา อาเจียน

สาเหตุ:

ยังไม่ทราบแน่นอน แต่องค์ประกอบสำคัญที่อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดได้แก่ กรรมพันธุ์ อ้วน ขาดการออกกำลังกาย หากบุคคลใดมีปัจจัยเสี่ยงมากย่อมมีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานมากขึ้น

คำแนะนำ:

1. รับประทานอาหารให้ถูกต้องตามที่กำหนดให้ และรู้จักวิธีใช้อาหารที่สามารถทดแทนกันได้

2. ใช้อินซูลิน หรือยาเม็ดให้ถูกต้องตามเวลา

3. ระวังรักษาสุขภาพอย่าตรากตรำเกินไป

4. รักษาร่างกายให้สะอาด และระวังอย่าให้เกิดบาดแผล

5. หมั่นตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ

6. ออกกำลังกายแต่พอควรสม่ำเสมอ

7. ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย ตกใจ หวิวใจสั่น เหงื่อออก หรือมีอาการปวดศีรษะตามัว ให้รับประทานน้ำหวานหรือน้ำตาลทันที ทั้งนี้เนื่องจากรับประทานอาหารไม่เพียงพอกับยา แต่ถ้าได้รับประทานอาหารที่น้ำตาลมากเกินไปและได้อินซูลินหรือยาน้อย ผู้ป่วยจะมีอาการง่วงผิวหนังร้อนผ่าว คลื่นไส้ อาเจียน หายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ ถ้าทิ้งไว้อาจทำให้ไม่รู้สึกตัว ต้องรีบตามแพทย์ทันที

8. ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรมีบัตรบ่งชี้ว่าเป็นเบาหวาน และกำลังรักษาด้วยยาชนิดใดอยู่เสมอ และควรมีขนมติดตัวไว้ด้วย

9. อย่าปล่อยตัวให้อ้วนเพราะ 80% ของผู้ป่วยโรคนี้เกิดจากการอ้วนมาก่อน

10. อย่าวิตกกังวลหรือเครียดมากเกินไป

11. เบาหวานเป็นกรรมพันธุ์ได้ หากสงสัยว่าเป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจเลือดจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

12. ต้องระมัดระวัง เมื่ออายุเกิน 40 ปี ควรตรวจเลือดดูเบาหวานทุกปีเพราะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่าย


2. โรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ หรือโรคแพ้ (Allergy) หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอาการไวผิดปกติต่อสิ่งซึ่งสามารถก่อให้เกิดภูมิแพ้ (Allergen) ซึ่งธรรมชาติสารเหล่านี้อาจไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้กับคนปกติทั่วไป

โรคภูมิแพ้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย เด็กอายุ 5 ถึง 15 ปี มักพบว่าเป็นบ่อยกว่าช่วงอายุอื่นๆ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่โรคแสดงออกหลังจากได้รับ “สิ่งกระตุ้น” มานานเพียงพอ อย่างไรก็ตามบางคน อาจเริ่มเป็นโรคภูมิแพ้ตอนเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ได้

โรคภูมิแพ้นั้นมิใช่โรคติดต่อ แต่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม จากรุ่นคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย คุณพ่อคุณแม่ มาสู่ลูกหลานได้ อาจพบว่าในครอบครัวนั้นมีสมาชิกป่วยเป็นโรคภูมิแพ้หลายคน

ตัวการที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เรียกกว่า สารก่อภูมิแพ้ (Allergens) หรือ สิ่งกระตุ้น ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายทางระบบหายใจ การรับประทานอาหาร การสัมผัสทางผิวหนัง ทางตา ทางหู ทางจมูก หรือโดยการฉีดหรือถูกกัดต่อยผ่านผิวหนัง ตัวการที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้มีอยู่รอบตัว สามารถกระตุ้นอวัยวะต่างๆ จนก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น

ทางลมหายใจ: ถ้าสิ่งกระตุ้นผ่านเข้ามาทางลมหายใจ ตั้งแต่รูจมูกลงไปยังปอด ก็จะทำให้เป็นหวัด คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล คันคอ เจ็บคอ ไอ มีเสมหะ เสียงแหบแห้ง และลงไปยังหลอดลม ทำให้หลอดลมตีบตัน เป็นหอบหืด

ทางผิวหนัง: ถ้าสิ่งกระตุ้นเข้ามาทางผิวหนัง จะทำให้เกิดผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย

ทางอาหาร: ถ้าสิ่งกระตุ้นเข้ามาทางอาหาร จะทำให้ท้องเสีย อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด เสียไข่ขาวในเลือด อาจทำให้เกิดอาการทางระบบอื่นๆได้ เช่น ลมพิษ หน้าตาบวม

ทางตา: ถ้าสิ่งกระตุ้นเข้ามาทางตา จะทำให้เกิดอาการแสบตา คันตา หนังตาบวม น้ำตาไหล

สารก่อภูมิแพ้ซึ่งเป็น “ตัวการ” ของโรคภูมิแพ้ ที่มักพบบ่อยๆ ได้แก่

ฝุ่นบ้าน ตัวไรฝุ่นบ้าน: มักปะปนอยู่ในฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ม.ม. มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

เชื้อรา: มักปะปนอยู่ในบรรยากาศ ตามห้องที่มีลักษณะอับชื้น

อาหารบางประเภท: อาหารบางอย่างจะเป็นตัวการของโรคภูมิแพ้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวก อาหารทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา อาหารอีกจำพวกที่พบได้บ่อยคือ แมงดาทะเล ปลาหมึก อาจทำให้เกิดลมพิษผื่นคันได้บ่อยๆ เด็กบางคนอาจแพ้ไข่แมงดาทะเลอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้มีอาการบวมตามตัว หายใจไม่ออก เป็นต้น

อาหารประเภทหมักดอง เช่น ผักกาดดอง เต้าเจี้ยว น้ำปลา เป็นต้น เด็กบางคนอาจแพ้เห็ดซึ่งจัดว่าเป็นราขนาดใหญ่

เด็กบางคนแพ้ไข่ขาว อาจทำให้เกิดอาการผื่นคันบนใบหน้าได้ บางคนอาจจะแพ้ผลไม้จำพวกที่มีรสเปรี้ยวจัด กลิ่นฉุนจัด เช่น ทุเรียน ลำใจ สตรอเบอรี่ กล้วยหอม และอื่นๆ

ยาแก้อักเสบ: ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อยๆนั้นได้แก่ ยาปฏิชีวนะ พวกเพนนิซฺลิน เตตราไวคลิน นอกจากนั้นยังมีพวกซัลฟา ยาลดไข้แก้ปวดพวกแอสไพริน ไดไพโรน ยาระงับปวดข้อปวดกระดูก อาจทำให้เกิดลมพิษผื่นคันของผิวหน้า พวกเซรุ่มหรือวัคซีนเป็นกันโรค โดยเฉพาะวัคซีนสกัดจากเลือดม้า เช่น เซรุ่มต้านพิษงู แพ้พิษสุนัขบ้า เป็นต้น

แมลงต่างๆ: แมลงที่มักอาศัยอยู่ภายในบ้าน เช่น แมลงสาบ แมงมุม มด ยุง ปลวก และแมลงที่อาศัยอยู่นอกบ้าน เช่น ผึ้ง แตน ต่อ มดนานาชนิด เป็นต้น

เกสรดอกหญ้า ดอกไม้ ตอกข้าว วัชพืช: สิ่งเหล่านี้มักปลิวอยู่ในอากาศตามกระแสลม ซึ่งสามารถพัดลอยไปได้ไกลๆ หรืออาจเป็นลักษณะขุยๆติดตามมุ้งลวดหน้าต่าง เกสรดอกหญ้าที่ปลิวมาตามสายลม

ขนสัตว์: ขนของสัตว์เลี้ยงเป็นต้นเหตุของโรคภูมิแพ้ เช่น ขนแมว ขนสุนัข ขนนก ขนเป็ด ขนไก่ ขนกระต่าง ขนนกหรือขนเป็ด ขนไก่ที่ตากแห้งใช้ยัดที่นอนและหมอน สำหรับนุ่น ฟองน้ำ ยางพารา ใยมะพร้าว เมื่อใช้ไปเป็นระยะเวลานานก็จะสามารถเป็นสารก่อภูมิแพ้ได้เช่นกัน

โรคภูมิแพ้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกระบบของร่างกาย บางคนอาจมีอาการภูมิแพ้ในระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบ โรคภูมิแพ้นั้นเป็นโรคที่สามารถพิสูจน์หาสาเหตุของโรคและสามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยบางคนเริ่มจากอาการแพ้อากาศเรื้อรัง เยื่อจมูกอักเสบ เมื่อไม่ได้ใส่ใจรักษา ต่อมาอาจกลายเป็นโรคหอบหืด โรคผื่นคันผิวหนัง เช่น เป็นลมพิษ ปวดศีรษะเรื้อรัง โรคอ่อนเพลียต่างๆ เป็นต้น

บางคนเชื่อว่า ถ้าเด็กเป็นโรคหอบหืดตั้งแต่เล็กพอโตขึ้นอาจหายไปเองได้และไม่จำเป็นต้องรักษาอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะโรคนี้อาจทำให้เด็กเจริญเติบโตช้า การปรับตัวเข้ากับสังคมเพื่อนๆและสภาพแวดล้อมได้ไม่ดี เกิดปมด้อย เจ้าตัวเล็กอาจขาดความมั่นใน ส่วนเด็กที่แพ้อากาศ ถ้าไม่รักษาต่อมาก็อาจกลายเป็นโรคหอบหืดที่มีอาการของโรคแรงขึ้นเรื่อยๆได้

หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าเจ้าตัวเล็กนั้นเป็นโรคภูมิแพ้ ควรจะพาไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาว่าเด็กแพ้อะไรบ้าง การดูแลรักษาในเบื้องต้นนั้นทำได้โดยการพยายามหลีกเลี่ยงสารที่แพ้ ซึ่งจะทำให้อาการของโรคนั้นลดลงหรือหมดไปได้


3. โรคเกาต์

เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ที่มีอาการปวดข้อเรื้อรัง พบได้ไม่น้อย พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 9-10 เท่า ส่วนมากจะพบในผู้ชายอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงพบได้น้อย ถ้าพบมักจะเป็นหลังวัยหมดประจำเดือน เป็นโรคที่มีทางรักษาให้หายได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

อาการ:

มีอาการปวดข้อรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันที ข้อจะบวมและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะตึง ร้อนและแดง จากนั้นผิวหนังในบริเวณที่ปวดจะลอกและคัน มักมีอาการปวดตอนกลางคืน และมักจะเป็นหลังดื่มเหล้าหรือเบียร์ (ทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง)

ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ในระยะแรกๆ อาจกำเริบทุก 1-2 ปี โดยเป็นที่ข้อเดิม แต่ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทุก 4-6 เดือน แล้วเป็นทุก 2-3 เดือน จนกระทั่งทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้งและระยะการปวดจะนานวันขึ้นเรื่อยๆ เช่น กลายเป็น 7-14 วัน จนกระทั่งหลายสัปดาห์หรือปวดตลอดเวลา ส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มจากข้อเดียวเป็น 2-3 ข้อ (เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า นิ้วมือนิ้วเท้า) จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อ

ในระยะหลัง เมื่อข้ออักเสบหลายข้อ ผู้ป่วยมักสังเกตว่ามีปุ่มก้อนขึ้นที่บริเวณที่เคยอักเสบบ่อยๆ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า รวมทั้งที่หูเรียกว่า ตุ่มโทฟัส (tophus/tophi) ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของสารยูริก ปุ่มก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งแตกออกมีสารขาวๆคล้ายชอล์กหรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า ในที่สุดข้อต่างๆจะค่อยๆพิการและใช้งานไม่ได้

สาเหตุ:

เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้มีกรดยูริกคั่งอยู่ในร่างกายมากผิดปกติ ซึ่งจะตกผลึกสะสมอยู่ตาม ข้อ ผิวหนัง ไตและอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน และอาจมีสาเหตุจากร่างกายมีการสลายตัวของเซลล์มากเกินไป เช่น โรคทาลัสซีเมีย, มะเร็งในเม็ดเลือดขาว, การใช้ยารักษามะเร็งหรือฉายรังสี เป็นต้น หรือ อาจเกิดจากไตขับกรดยูริกได้น้อยลงเช่น ภาวะไตวาย ตะกั่วเป็นพิษ, ผลจากการใช้ยาไทอาไซด์ เป็นต้น

คำแนะนำ:

1. ดื่มน้ำสะอาดมากๆ ช่วยป้องกันการสะสมผลึกกรดยูริกซึ่งอาจทำให้เกิดนิ่วในไต

2. ควรกินผัก ผลไม้มากขึ้น เช่น ส้ม กล้วย องุ่น ซึ่งจะช่วยให้ปัสสาวะมีภาวะเป็นด่าง และกรดยูริกถูกขับออกมากขึ้น

3. ควรทานผักใบเขียวที่มีธาตุเหล็กสูง เพื่อทดแทนธาตุเหล็กที่ขาดเนื่องจากการงดทานเนื้อสัตว์

4. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

5. งดอาหารที่มีสารพิวรินสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ น้ำซุปเนื้อสัตว์ กุ้ง หอย ปู ปลาซาร์ดีน กะปิ ซึ่งจะทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น

6. ควรจำกัดอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาจกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ ควรงดเครื่องดื่มพวกโกโก ช็อกโกแลต ควรทานนมพร่องมันเนย

7. ยาบางชนิดอาจมีผลต่อการรักษาโรคนี้ เช่น แอสไพริน หรือยาขับปัสสาวะ ไทอาไซด์ อาจทำให้ร่างกายขับกรดยูริกได้น้อยลง ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อยากินเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนจะใช้ยา


4. โรคไมเกรน

เป็นโรคที่เกิดจากการบีบตัว และคลายตัวของหลอดเลือดในสมองมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว พร้อมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาจมีอาการตาพร่ามัว หรือเห็นแสงระยิบระยับร่วมด้วย พบมากในช่วงอายุ 10-30 ปี โดยเฉพาะผู้หญิง มักเป็นมากกว่าผู้ชาย

อาการ:

1. ปวดศีรษะครึ่งซีก อาจเป็นบริเวณขมับหรือท้ายทอยแต่บางครั้งก็อาจเป็นสองข้างพร้อมกันหรือสลับข้างกันได้

2. ลักษณะการปวดศีรษะส่วนมากมักจะปวดตุ๊บๆ นานครั้งหนึ่งเกิน 20 นาที ผู้ป่วยบางรายอาจมีปวดตื้อๆ สลับกับปวดตุ๊บๆ ในสมองก็ได้

3. อาการปวดศีรษะมักเป็นรุนแรง และส่วนมากจะคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วยเสมอ โดยอาจเป็นขณะปวดศีรษะก่อนหรือหลังปวดศีรษะก็ได้

4. อาการนำจะเป็นอาการทางสายตาโดยจะมีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะราว 10-20 นาที เช่น เห็นแสงเป็นเส้นๆระยิบระยับ แสงจ้าสะท้อน หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวก่อนปวด

สาเหตุ:

1. สาเหตุที่อยู่ภายในร่างกาย เช่น พันธุกรรม ความเครียด สาเหตุเหล่านี้ไม่สามารถจะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้

2. สาเหตุที่มาจากภายนอกร่างกาย สามารถที่จะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้เกิดโรคขึ้น ได้แก่ อดนอน หรือการทำงานหนักมากเกินไป ขาดการพักผ่อน หรือมีความเครียด การดื่มเหล้า กาแฟ ยาคุมกำเนิด (บางคนเป็น และเมื่อหยุดยาคุม ก็จะลดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้) อาหารบางชนิดจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเคมีในสมอง เพื่อกระตุ้นเส้นเลือดในสมองหดตัว และขยายตัว ทำให้มีอาการปวดหัวได้ อาหารเหล่านี้ ได้แก่ กล้วยหอม ช็อกโกแลต เนยแข็ง เบียร์ ไวน์

คำแนะนำ:

1. การนอนไม่พอ การอดนอน

2. การดื่มสุรามากเกินไป จะทำให้ปวดไมเกรนมากขึ้น แต่ถ้าปวดศีรษะแบบตึงเครียด อาการปวดจะบรรเทาลงด้วยการดื่มเหล้า

3. การตรากตรำทำงานมากเกินไป ทำให้ต้องอดอาหารบางมื้อ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ อาการปวดศีรษะไมเกรนจะเป็นได้ง่ายขึ้น

4. การตื่นเต้นมากๆ โดยเฉพาะในเด็กที่ไปงานเลี้ยง

5. การเล่นกีฬาที่หักโหมจนเหนื่อยอ่อน แต่ถ้าเล่นกีฬาเบาๆ จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย

6. การมองแสงที่มีความจ้ามากๆ เช่น แสงอาทิตย์ที่รุนแรง แสงที่กระพริบมากๆ เช่น ไฟนีออนที่เสีย หรือแสงระยิบระยับในดิสโก้เทค

7. เสียงดัง

8. กลิ่นน้ำหอมบางชนิด กลิ่นซิการ์ กลิ่นสารเคมีบางอย่าง กลิ่นท่อไอเสียรถยนต์

9. อาหารบางชนิด

10. อากาศร้อนจัด อากาศเย็นจัด

11. ในระหว่างที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ควรจะนอนพักผ่อนในห้องที่เงียบ รับประทานยาแก้ปวดธรรมดา ถ้ามียานอนหลับก็รับประทานยาให้ หลับ หรือกดเส้นเลือดที่กำลังเต้นอยู่ที่ขมับข้างที่ปวดศีรษะ ก็จะช่วยลดอาการปวดศีรษะได้ หรืออาจจะใช้น้ำแข็งประคบ


5. โรคสมองเสื่อม (DEMENTIA)

โรคสมองเสื่อม (DEMENTIA ) เป็นคำที่เรียกใช้กลุ่มอาการต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานของสมองที่เสื่อมลง อาการที่พบได้บ่อย คือ ในด้านที่เกี่ยวกับความจำ การใช้ความคิด และการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นอกจากนี้ยังพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพร่วมด้วยได้ เช่น หงุดหงิดง่าย เฉื่อยชา หรือเมินเฉย เป็นต้น การเสื่อมของสมองนี้ จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อ การดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านอาชีพการงาน และชีวิตส่วนตัว

โรคสมองเสื่อมไม่ใช่ภาวะปกติของคนที่มีอายุ ในบางครั้งเวลาที่เรามีอายุมากขึ้น เราอาจมีอาการหลงๆลืมๆได้บ้าง แต่อาการหลงลืมในโรคสมองเสื่อมนั้น จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ อาการหลงลืมจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่จำรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เท่านั้น คนที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะจำเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย รวมทั้งสิ่งที่ตัวเองกระทำเองลงไปด้วย และถ้าเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ คนผู้นั้นอาจจำไม่ได้ว่าใส่เสื้ออย่างไร อาบน้ำอย่างไร หรือแม้กระทั่งไม่สามารถพูดได้เป็นประโยค

อะไรคือสาเหตุของโรคสมองเสื่อม

อาการต่างๆ ของโรคสมองเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) นั้นเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม ส่วนโรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมอง (Vascular dementia) นั้น เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยรองลงมา นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมที่พบได้ คือ โรค Parkinson , Frontal Lobe Dementia , จาก alcohol และจาก AIDS เป็นต้น

ใครจะป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมได้บ้าง

โรคสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย แต่จะพบได้น้อยมากในคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่แล้วมักจะพบในคนสูงอายุ แต่พึงตระหนักไว้ว่า โรคสมองเสื่อมนั้นไม่ใช่สภาวะปกติของ ผู้ที่มีอายุมาก เพียงแต่เมื่ออายุมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคได้มากขึ้น โดยคร่าวๆนั้นประมาณ 1 ใน 1000 ของคนที่อายุน้อยกว่า 65 ปี จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ ประมาณ 1 ใน 70 ของคนที่อายุระหว่าง 65-70 ปี 1 ใน 25 ของคนที่มีอายุระหว่าง 70-80 ปี และ 1 ใน 5 ของคนที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมนี้ได้ โดยประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมนั้น มีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease)

ความสำคัญในการตรวจร่างกาย

เนื่องจากสาเหตุของโรคสมองเสื่อมนั้น มีมากมายหลายสาเหตุ ดังนั้นการพบแพทย์เพื่อรับการปรึกษา และตรวจร่างกาย จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้ทราบว่า เราป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่แล้ว ยังทำให้พอทราบได้ว่า สาเหตุนั้นมาจากอะไร ซึ่งจะมีผลต่อแนวทางการรักษาต่อไป



6. โรคมะเร็ง

มะเร็งคือ กลุ่มของโรคที่เกิดเนื่องจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ ที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ รวดเร็ว และมากกว่าปกติ ดังนั้น จึงอาจทำให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติ และในที่สุดก็จะ ทำให้เกิดการตายของเซลล์ในก้อนเนื้อนั้น เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะการ เจริญเติบโตของหลอดเลือด ถ้าเซลล์พวกนี้เกิดอยู่ในอวัยวะใดก็จะ เรียกชื่อ มะเร็ง ตามอวัยวะนั้นเช่น มะเร็งปอด มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น

โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย 10 อันดับแรก คือ

มะเร็งตับ 8,189 ราย

มะเร็งปอด 5,500 ราย

มะเร็งลำไส้ใหญ่ 2,191 ราย

มะเร็ง ช่องปาก 1,094 ราย

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 1,057 ราย

มะเร็งกระเพาะอาหาร 1,041 ราย

มะเร็ง เม็ดเลือดขาว 891 ราย

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 881 ราย

มะเร็งหลังโพรงจมูก 855 ราย

มะเร็งหลอดอาหาร 748 ราย

โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง 10 อันดับแรก

มะเร็งปากมดลูก 5,462 ราย

มะเร็งเต้านม 4,223 ราย

มะเร็งตับ 3,679 ราย

มะเร็งปอด 2,608 ราย

มะเร็งลำไส้ใหญ่ 1,789 ราย

มะเร็งรังไข่ 1,252 ราย

มะเร็งช่องปาก 953 ราย

มะเร็งต่อมธัยรอยด์ 885 ราย

มะเร็งกระเพาะอาหาร 723 ราย

มะเร็งคอมดลูก 703 ราย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทที่สำคัญ คือ

1. เกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือภายนอกร่างกาย ซึ่งปัจจุบันนี้เชื่อกันว่ามะเร็งส่วนใหญ่ เกิดจากสาเหตุได้แก่สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น สารพิษจาก เชื้อรา ที่มีชื่ออัลฟาทอกซิน (Alfatoxin) สารก่อมะเร็งที่เกิดจากการปิ้ง ย่าง พวกไฮโดคาร์บอน (Hydrocarbon) สารเคมีที่ใช้ในขบวนการถนอมอาหาร ชื่อไนโตรซามิน (Nitosamine) สีผสมอาหารที่มาจากสีย้อมผ้า รังสีเอ็กซเรย์ อุลตราไวโอเลตจากแสงแดด เชื้อไวรัส ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสฮิวแมนแพบพิลโลมา การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ จากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ และดื่มสุรา เป็นต้น

2. เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกาย ซึ่งมีเป็นส่วนน้อย เช่น เด็กที่มีความ พิการ มาแต่ กำเนิดมีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น การมีภูมิคุ้มกันที่บกพร่องและภาวะ ทุพโภชนาการ เช่น การขาดไวตามินบางชนิด เช่น ไวตามินเอ ซี เป็นต้น

จะเห็นว่า มะเร็งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อม ดังนั้น มะเร็งก็น่าจะเป็นโรคที่สามารถ ป้องกันได้ เช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออื่นๆ (Hill R.P,Tannock IF,1987) ถ้าประชาชนมี ความรู้เกี่ยวกับสาร ก่อมะเร็ง และสารช่วยหรือให้เกิดมะเร็งที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมแล้ว พยายาม หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเหล่านั้น เช่น งดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงจากบริเวณ ที่มีควันบุหรี่ เป็นต้น

สำหรับสาเหตุภายในร่างกายนั้นการป้องกันคงไม่ได้ผลแต่ทำให้ทราบว่า ตนเองจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูงหรือมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ดังนั้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับความรู้เรื่องมะเร็งต่อไป กรณีที่เป็นมะเร็งได้ตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งจะมีการตอบสนองต่อการ รักษาค่อนข้างดี

อาการ:

1. ไม่มีอาการใดเลยในช่วงแรกขณะที่ร่างกายมีเซลล์มะเร็งเป็นจำนวนน้อย

2. มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งตามสัญญาณอันตราย 8 ประการ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจค้นหาโรคมะเร็ง หรือสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มีสัญญาณเหล่านี้ เพื่อการรักษาและแก้ไขทางการแพทย์ที่ถูกต้อง ก่อนที่จะกลายเป็นโรคมะเร็ง หรือเป็นมะเร็งระยะลุกลาม

3. มีอาการป่วยของโรคทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ร่างกาย ทรุดโทรม ไม่สดชื่น และไม่แจ่มใส

4. มีอาการที่บ่งบอกว่า มะเร็งอยู่ในระยะลุกลาม หรือเป็นมาก ขึ้นอยู่กับว่าเป็น มะเร็งชนิดใดและมีการกระจายของโรคอยู่ที่ส่วนใดของร่างกายที่สำคัญที่สุด ของอาการในกลุ่ม นี้ ได้แก่ อาการเจ็บปวด ที่แสนทุกข์ทรมาน

คำแนะนำ:

1. รับประทานผักตระกูลกะหล่ำให้มาก เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักคะน้า หัวผักกาด บรอคโคลี่ ฯลฯ

2. รับประทานอาหารที่มีกากมากเช่น ผัก ผลไม้ ข้าว ข้าวโพด และเมล็ดธัญพืชอื่นๆ

3. รับประทานอาหารที่มีเบต้า- แคโรทีน และ ไวตามินเอ สูงเช่น ผัก ผลไม้สีเขียว-เหลือง

4. รับประทานอาหารที่มีไวตามินซีสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ

5. ควบคุมน้ำหนักตัว

6. ไม่รับประทานอาหารที่มีราขึ้น

7. ลดอาหารไขมัน

8. ลดอาหารดองเค็ม อาหารปิ้ง-ย่าง รมควัน และอาหารที่ถนอมด้วยเกลือไนเตรท-ไนไตร์ท

9. ไม่รับประทานอาหารสุกๆดิบๆ เช่น ก้อยปลา ปลาจ่อม ฯลฯ

10. หยุดหรือลดการสูบบุหรี่

11. ลดการดื่มแอลกอฮอล์

12. อย่าตากแดดจัดมากเกินไป จะเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็งผิวหนัง

มีต่อ...(โรคที่7 ถึงโรคที่10)