กิจวัตรประจำวันตอนเช้าหลังตื่นนอนแปดโมงกว่าๆผมต้องหยอดยาปรับความดันลูกนัยน์ตา ใช่ครับ ผมเป็นทั้งต้อหินและต้อกระจก เป็นทั้งสองข้าง ข้างซ้ายผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียมไปแล้ว ส่วนข้างขวา รพ.นพรัตน์ฯคุณหมออุดม เฝ้าดูอาการอยู่
วันนี้(3พ.ย.)พอยกยาขึ้นจะหยอดตารู้สึกปวดแขนขวาตั้งแต่ข้อมือไปถึงหัวไหล่ นึกแปลกใจตอนเข้าห้องน้ำล้างหน้าพอมือโดนน้ำเย็นมันปวดร้าวไปทั้งแขน นี่เราเป็นอะไรหว่า...
มีบัตรทองประกันสุขภาพปฐมภูมิอยู่ในมือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ร่มเกล้า เขตลาดกระบัง เห็นทีต้องไปใช้บริการแล้ว
หลังจากตรวจและฟังผมเล่าอาการคุณหมอก็สั่งยาทาและยารับประทาน 2-3 อย่าง พร้อมกำชับว่าวันศุกร์นี้(5พ.ย.)ให้มาเจาะเลือดหาไขมันน้ำตาล คุณหมอบอกว่าความดันโลหิตผมขึ้นถึง 150 สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ให้หมั่นออกกำลังกายทุกๆวัน งดรับประทานอาหาร หวาน มัน เค็ม...
ผมงง??...
เป็นเพราะอะไร?? มานึกๆดู ผมก็ดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดีแล้วนี่นา...เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ...
หรือเป็นเพราะ...นั่งหน้าคอมฯนานเกินไป...สัปดาห์ที่ผ่านมานั่งหน้าคอมฯเอามือกุมขยับเม้าท์วันละ 14-15 ชั่วโมง ผมต้องดูแล Update ข้อมูลถึง 14 เว็บบล็อกนะครับ
หรือเป็นเพราะ...ตอนดึกหิวงัดเอาขนมปังช็อกโกแลตน้ำอัดลมออกมารับประทาน
หรือเป็นเพราะ...สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้ออกกำลังกายเรียกเหงื่อเลย
หรือเป็นเพราะ...
เป็นเพราะ...
? ? ? ? ? ? ? ? ? ?......
หมายเหตุ: ค่าความดันโลหิตปกติ 120/80 ม.ม.ปรอท หรือต่ำกว่า
ความดันโลหิตสูง: ภัยมืดใกล้ตัวที่น่ารู้จัก
By: วิไลวรรณ ตรีถิ่น
ความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญมากอย่างหนึ่งของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากคนที่เป็นโรคนี้ส่วนมากมักไม่มีอาการหรืออาการแสดงในระยะแรก แต่มักมีอาการหรืออาการแสดงเมื่อโรคเป็นมากหรือมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายเกิดขึ้นกับ หัวใจ ตา ไต และสมอง เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาดทำให้มีผลกระทบทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัว
ความดันโลหิตสูง (Hypertension) หมายถึงค่าความดันโลหิตตัวบนเท่ากับหรือสูงกว่า 140 ม.ม.ปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่างเท่ากับหรือสูงกว่า 90 ม.ม.ปรอท
สำหรับผู้สูงอายุ 50-60 ปีขึ้นไปมีความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ 45 โดยมีค่าความดันโลหิตตัวบนเท่ากับหรือสูงกว่า 160 ม.ม.ปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่างเท่ากับหรือสูงกว่า 95 ม.ม.ปรอท เนื่องจากผู้สูงอายุมีความเสื่อมของหลอดเลือดแดง เรียกว่า ความดันโลหิตสูงซีสโตลิค (Systolic Hypertension)
การวัดความดันโลหิตให้ได้ค่าที่ถูกต้อง ควรวัดเมื่อผู้ถูกวัดได้พักอย่างน้อย 5 นาที เพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย หรือวัดหลังจากรับประทานอาหาร สูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ อย่างน้อย 30 นาที
อาการของความดันโลหิตสูงโดยทั่วไปได้แก่ มีเลือดกำเดาออก ปวดศีรษะโดยเฉพาะในตอนเช้าหลังตื่นนอน มึนงง ตาพร่ามัว
การรักษาความดันโลหิตสูง คือ การรักษาให้ความดันโลหิตมีค่าต่ำกว่า 140/90 ม.ม.ปรอท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับอวัยวะที่สำคัญ คือ หัวใจ ตา ไต และสมอง
การรักษาความดันโลหิตสูง แบ่งใหญ่ๆได้ 2 วิธี คือ
1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะอ้วน จำกัดเกลือหรืออาหารรสเค็ม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการบวม, ออกกำลังกายให้พอเหมาะกับสภาพของร่างกายแต่ละบุคคล อย่าออกกำลังกายมากเกินไป, งดหรือลดการดื่มสุรา ไม่ควรดื่มสุราเกินวันละ 2 ออนซ์ หรือ 60 ม.ล., ผ่อนคลายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ, พักผ่อนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
2. การรักษาโดยใช้ยา ผู้ป่วยจะได้รับยาลดความดันโลหิตสูงเมื่อการปฏิบัติตนโดยไม่ใช้ยาไม่สามารถควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงได้ หรือผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงมากตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รับการตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูง
คำแนะนำ:
โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ควรสร้างสุขนิสัยหรือมีพฤติกรรมป้องกันความดันโลหิตสูง ได้แก่
**อย่าให้อ้วน เพราะความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดความดันโลหิตสูง ต้องสร้างสุขนิสัยไม่บริโภคมากเกินโดยเฉพาะการรับประทานเนื้อสัตว์ ไขมันอิ่มตัว และอาหารที่มีรสเค็มจัด เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ไข่เค็ม ของหมักดอง อาหารรสเค็มต่างๆ อาหารกระป๋องซึ่งมักจะมีส่วนผสมของโซเดียม อาหารเคี้ยวกรอบที่มีรสเค็ม หลีกเลี่ยงการใช้สารอาหารและยาที่มีโซเดียมสูง ได้แก่ ผงชูรส (Monosodium Glutamate) รวมทั้งเครื่องปรุงรสของบะหมี่สำเร็จรูป ผงกันบูด (Sodium Benzoate) สารกันเชื้อราในขนมปัง (Sodium Propionate) สารใส่ไอสครีมให้เหนียว (Sodium Alginate) ผงฟูในการทำเค็กหรือขนมปัง (Sodium Bicarbonate) สารใส่ผลไม้กระป๋องให้คงสีธรรมชาติ (Sodium Sulfite) ยาโซดามินท์ เป็นต้น
**ควบคุมอาหารไขมัน โดยใช้น้ำมันพืช น้ำมันพืชที่มีกรดไลโนลิอิคสูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำข้าว เป็นต้น แต่ไม่ควรใช้น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาลม์เพราะให้พลังงานสูง ไม่ควรใช้น้ำมันจากสัตว์เพราะเป็นไขมันชนิดอิ่มตัวมีสารโคเลสเตอรอลสูงซึ่งทำให้หลอดเลือดอุดตัน
**ควบคุมอาหารที่มีพลังงานสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำจากกะทิ หอยนางรม ไข่แดง อาหารที่มันมาก เช่น ข้าวขาหมู หนังเป็ด หนังไก่ หนังหมู มันกุ้ง มันปู โดยเฉพาะผู้ที่มีโคเลสเตอรอลสูง
**รับประทาน ผัก ผลไม้ที่รสไม่หวานจัด ทุกๆวัน โดยรับประทานให้มากกว่าอาหารประเภทอื่นๆ
**ออกกำลังกายทุกๆวัน ให้ถูกต้องเพียงพอโดยสม่ำเสมอ ให้เหมาะสมกับสภาพหัวใจ หลอดเลือด สภาพร่างกาย และสภาพแวดล้อม เช่น การเต้นแอโรบิค การเดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือแม้แต่การทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ต้องระวังไม่ออกกำลังกายอย่างหักโหมหรือมากเกินไป เช่นการออกกำลังกายจนรู้สึกเหนื่อย การยก ผลัก ดึง แบก เข็น และหลีกเลี่ยงการแข่งขันเพราะทำให้เกิดความเครียด
**การฝึกจิตไม่ให้เครียดโดยการเจริญสติ เจริญสมาธิ มีความเมตตา ไม่โกรธหรือวู่วาม ช่วยลดการเป็นความดันโลหิตสูงได้
**งดการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้หลอดเลือดหดรัดตัวทำให้หลอดเลือดตีบ
**งดการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์มากๆ ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจวาย และเป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย
วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
แล้ววันนี้ผมก็ไปเจาะเลือดตามนัดครับ
ตลอดวันวาน(4พ.ย.)ผมเข้มงวดกับตัวเอง นั่งทำงานหน้าคอมฯแค่ 2-3 ช.ม.
งดขนมปังช็อกโกแลตน้ำอัดลม
รับประทานอาหารตามปกติทั้ง 3 มื้อ เน้นที่ผัก-ผลไม้มากหน่อย
ตกเย็นออกกำลังกายเต้นแอโรบิคอยู่หน้าจอ ก็เรียกเหงื่อได้ชุ่ม
2ทุ่มงดน้ำ-อาหารทุกชนิด 4ทุ่มเข้านอน
2โมงเช้าวันนี้(5พ.ย.) ก่อนเจาะเลือดแวะไปวัดความดันโลหิตที่เคาน์เตอร์ ผลออกมา 138/74
เมื่อวันก่อน(3พ.ย.)วัดได้ 150/90 แล้ววันนี้วัดได้ 138/74 มันลดลงทันตาเห็น...แสดงว่าตัวผม ถ้าใช้วิธีเข้มงวดตัวเองและลดการบริโภคสามารถป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้
ขอขอบคุณคุณหมอ ศูนย์45ร่มเกล้า ที่เห็นความผิดปกติและสั่งให้เจาะเลือดหาไขมันน้ำตาล
และขอขอบคุณร่างกายของตัวเอง ที่แสดงอาการเตือนออกมาให้รู้ตัวก่อนที่จะเป็นมากไปกว่านี้
ผมเดินตัวปลิวเข้าห้องตรวจ ถูกเจาะเลือดสีแดงเข้มไป 2 หลอดเต็มๆ
คุณหมอนัดฟังผลวันศุกร์ที่ 19 พ.ย.นี้
ก็ลุ้นกันละครับ ว่าผลมันจะออกมาทางไหน
ลบหรือบวก
วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
วันนัดฟังผลเลือด...
ไขมัน 247 เกินระดับปกติไป 47 (ปกติ 0-200)
น้ำตาล 102 เกินระดับปกติไป 2 (ปกติ 70-100)
ความดันโลหิต 156/97 (ความดันโลหิตสูงขั้นที่1 บน140-159 / ล่าง90-99)
คุณหมอแนะให้ออกกำลังกายทุกๆวัน ควบคุมเรื่องอาหาร และสั่งยารับประทานหลังอาหารเช้า-เย็น 1.ยาขับปัสสาวะ ลดความดัน 2.ยาแก้ใจสั่น ลดความดัน 3.วิตามินบำรุงปลายประสาท แก้เหน็บชา และ 4.ยาลดไขมันในเลือดให้รับประทานก่อนนอน
ในวัยชราผมได้ของฝากรวมทั้งหมด 4 โรคแล้วครับ...
อิอิ...
นั่งทำงานใช้คอมฯนานๆ มีโอกาสเกิดอาการ มือชาเท้าชา
มือชาเท้าชา เป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่ง ที่มักเกิดกับคนในวัยทำงาน หรือผู้ที่ต้อง นั่งทำงานประจำออฟฟิศ นั่งโต๊ะใช้คอมพิวเตอร์นานๆ หรือนั่งอยู่ท่าเดิมนานๆ ก็อาจมีโอกาสเกิดอาการมือเท้าชาได้มากกว่าปกติ จากการที่เส้นประสาทโดนกดทับ ที่พบบ่อยคือ บริเวณข้อมือ ที่อยู่ในท่าแอ่น หรือ งอนานๆ เช่น การใช้เมาส์ หรือ พิมพ์งาน เป็นต้น
อาการมือเท้าชาในคนทำงานเกิดจากการที่เส้นประสาทที่พาดผ่านบริเวณข้อมือถูกกดทับ ซึ่งเส้นประสาทนี้จะผ่านจากแขนไปยังข้อมือเพื่อไปรับความรู้สึกที่บริเวณมือ โดยทอดผ่านบริเวณข้อมือและลอดผ่านเอ็นที่ยึดบริเวณข้อมือ อาจมีสาเหตุบางประการที่ทำให้เส้นประสาทนี้ถูกกดทับได้ จึงทำให้มือชา ร่วมกับมีอาการปวดชาร้าวไปยังท่อนแขนหรือต้นแขนได้ และบางคนพบว่ามือข้างที่เป็นอ่อนแรงหยิบจับสิ่งของไม่ถนัด ถ้าทิ้งไว้จะพบว่า กล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มืออาจจะแฟบลงเมื่อเทียบกับมืออีกข้างหนึ่ง พบในเพศหญิงมากกว่าชาย ระหว่างวัย 30-60 ปี
ผู้ที่ต้องประสบกับอาการมือชาเท้าชา นับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเป็นเพราะการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ รวมไปจนถึงการใช้ชีวิตอย่างไม่มีคุณภาพ ทำให้ร่างกายแสดงอาการอ่อนแอออกมาให้เห็นได้ง่ายขึ้น
อาการชาที่เกิดกับมือและเท้านั้น คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเกิดจากการที่ร่างกายขาดวิตามินบี.1 ตามที่เคยได้ร่ำเรียนมา แต่จริงๆแล้วอาการชาที่เกิดขึ้นกับมือและเท้านั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่เส้นประสาทถูกทับ จนแสดงอาการออกมาก็เป็นได้ ซึ่งบางคนเมื่อเกิดอาการเช่นนี้แล้วก็เลือกที่จะไปปรึกษาแพทย์ ในขณะที่อีกหลายคนก็เลือกที่จะทนกับอาการชาที่เกิดขึ้น จริงๆแล้ว อาการดังกล่าวก็เหมือนกับโรคอื่นๆทั่วไป หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
เส้นประสาทถูกกดทับ:
ผช.ศ.นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์ แพทย์อายุรกรรมประสาท บอกว่า อาการมือชาเท้าชา มักจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เนื่องจากร่างกายของผู้ใหญ่มีสภาพความเสื่อม และการใช้งานของร่างกายมากกว่าเด็กๆนั่นเอง
อาการมือชาเท้าชา เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการขาดวิตาบินบี.1 หรือเกิดจากโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน แต่สาเหตุส่วนใหญ่นั้นมักจะเกิดจากการที่เส้นประสาทโดนกดทับ ซึ่งสามารถป้องกันได้ และสามารถรักษาได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องผ่าตัด
“คนส่วนใหญ่เวลาเกิดอาการมือชาเท้าชา มักจะคิดว่าเป็นโรคเหน็บชา ซึ่งโรคเหน็บชานั้นก็คือโรคที่ปลายประสาทเสื่อมจากการขาดวิตามินบี.1 ซึ่งมักจะเกิดอาการชาทั้งเท้าทั้งมือสองข้าง แต่โรคเหน็บชาในปัจจุบันเกิดน้อยลงไปทุกที เนื่องมาจากว่าคนรับประทานวิตามินเสริมกันมากขึ้น หรือเวลาไปหาแพทย์ก็มักจะได้วิตามินบี.1 มาด้วย แต่อาการชาตามมือตามเท้าที่เกิดขึ้นในตอนนี้มักจะไม่ได้มาจากการขาดวิตามินแล้ว แต่สาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาของเส้นประสาท ไขสันหลัง หรือสมองเกิดอาการผิดปกติ
หากที่พบได้บ่อยมากที่สุดนั้นก็คือ อาการชามือชาเท้า ที่เกิดมาจากเส้นประสาทถูกกดทับ ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่สภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป การใช้ชีวิตในชีวิตประจำวันที่อาจจะต้องทำงานใช้มือในการทำงานหนักจนเกินไป หรือใช้ผิดวิธี ก็ทำให้เกิดอาการเส้นประสาทถูกกดทับจนเกิดอาการชาได้ แล้วแต่ว่าเส้นประสาทโดนกดทับบริเวณไหน จะทำให้เกิดอาการชาไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะชามือไม่ชาแขน ชาแขนไม่ชามือ ชาทั้งมือทั้งแขน ชาเท้าไม่ชาขา ชาขาไม่ชาเท้า หรือชาทั้งเท้าทั้งขาก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่โดนกดทับ”
อาการที่แสดงออก:
ตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกดทับจะก่อให้เกิดอาการชาในบริเวณที่แตกต่างกันออกไป คือ
* เกิดอาการชามือ แต่เท้าไม่ชา
- ชาที่หลังมือแต่ไม่เกินข้อมือ แสดงว่าเกิดเส้นประสาทกดทับที่ต้นแขนด้านใน อาจจะเกิดจากการนั่งเอาแขนพาดพนักเก้าอี้นานจนเกินไป แต่ถ้าเกิดอาการชาเลยมาถึงข้อมือ จะเกิดจากการที่เส้นประสาทบาดเจ็บบริเวณรักแร้
- ชาที่บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางเป็นหลัก มักจะเกิดจากที่เส้นประสาทถูกกดทับที่บริเวณข้อมือ ซึ่งก็ควรจะลดการใช้งานของมือ และพยายามหลีกเลี่ยงท่าที่ทำให้ชา เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ โทรศัพท์ หรือชูมือ เป็นต้น
- ชาที่บริเวณนิ้วนาง และนิ้วก้อย ก็มักจะมาจากการถูกกดทับที่ข้อศอก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้อศอก หรือหลีกเลี่ยงการเท้าแขนบ่อยๆ
- ชาเป็นแถบ ตั้งแต่บริเวณแขนไปจนถึงนิ้วมือ จะเกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อม ไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งควรปรึกษาแพทย์
* เกิดอาการชาเท้า แต่ไม่มีอาการชามือ
- ชาฝ่าเท้า เกิดจากเส้นประสาทบริเวณตาตุ่มด้านใน หรือบริเวณอุ้งเท้าถูกกดทับ ซึ่งก็ควรจะหลีกเลี่ยงท่าที่จะทำให้ขาชา พยายามลดการยืน หรือเดินนานๆ
- ชาหลังเท้า และลามขึ้นมาถึงหน้าแข้ง เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณใต้เข่าด้านนอก เพราะฉะนั้นควรจะหลีกเลี่ยงการนั่งในท่าที่ต้องพับขา เช่น ท่าขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ หรือการนั่งไขว่ห้าง
- ชาด้านนอกของต้นขา เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ขาหนีบ ควรหลีกเลี่ยงการงอพับบริเวณสะโพก
- ชาเป็นแถบจากสะโพกลงมาจนถึงข้อเท้า เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไปทับเส้นประสาท ซึ่งควรจะไปพบแพทย์
อาการทั้งหมดจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานหรือไม่นั้น ผช.ศ.นพ.พินิจ บอกว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งถ้าเส้นประสาทที่ถูกกดทับเสียหายไม่มาก หรือเพียงแค่ช้ำเท่านั้น แค่ 1-2 วันอาการชาก็จะหายไปเอง แต่ถ้าเส้นประสาทเกิดการถูกกดทับจนเสียหายมาก ก็อาจจะเป็นปีที่อาการจะเริ่มดีขึ้น และเส้นประสาทเริ่มฟื้นตัวได้
ป้องกันและรักษาตามอาการ:
การรักษาอาการชามือชาเท้านั้นก็มีทั้งการรักษาด้วยการผ่าตัด และไม่ผ่าตัด โดยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ และความรุนแรงของโรค “ถ้าเกิดอาการชาตามมือ ก็อาจจะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวให้คนไข้ ด้วยการให้ลดการทำงานโดยใช้มือก่อน ถ้ายังไม่ทุเลาก็อาจจะให้ยาไปรับประทานก่อน และถ้ายังไม่ทุเลาก็อาจจะต้องฉีดยา และถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นอีกก็อาจจะต้องใช้วิธีการผ่าตัด”
ส่วนการป้องกันนั้น ผช.ศ.นพ.พินิจ บอกว่า ควรจะต้องระมัดระวังในเรื่องท่าทาง ระมัดระวังตัวเองอย่าให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนแอ และที่สำคัญต้องหัดสังเกตอาการชาเบื้องต้นอย่างละเอียดว่าเกิดอาการชา หรือปวดแสบปวดร้อนที่บริเวณใดให้ชัดเจน เพื่อที่เมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์จะได้สามารถวินิจฉัยอาการได้อย่างถูกต้องและชัดเจน เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เนื่องมาจากเส้นประสาทมีความซับซ้อนมาก ถ้าคนไข้ที่เกิดอาการไม่สังเกต และบ่งบอกอาการ หรือบริเวณที่เกิดอาการชาได้อย่างชัดเจน ก็อาจจะทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดตำแหน่งได้ง่าย และการรักษานั้นก็จะไม่เกิดผลแต่อย่างใด
“คุณเพียงแค่สังเกตอาการต่างๆเหล่านี้เพิ่มขึ้นสักนิด ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวคุณเองที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีนั่นแหละครับ”
ผช.ศ.นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์ กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงท่านที่ส่งบทความที่มีประโยชน์อย่างมากนี้มาให้ และไม่บอกด้วยว่า ผช.ศ.นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์ ท่านประจำ รพ.ไหน