เดือนนี้...วันนี้(8ธ.ค.)ผมไปก่อนนัด 14 วัน สาเหตุเพราะยาหยอดตาที่รับไปเมื่อเดือนก่อนหมดขวด เท่าที่สังเกตตอนยาเต็มขวดน้ำยาที่หยดออกมาจะเม็ดเล็กๆท่วมพอดีๆแล้วก็แห้งเข้าไปในดวงตา เมื่อน้ำยาพร่องเกินครึ่งขวดไปแล้วน้ำยาที่หยดออกมาจะเม็ดใหญ่ท่วมตาจนไหลล้นออกมาอาบแก้ม คิดว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ยา 1 ขวดใช้หยอดตาได้ไม่ถึงเดือน
เข้าห้องตรวจพบหน้าคุณหมออุดม ผมกล่าวทักสวัสดีครับแต่ไม่ได้ยกมือไหว้(กลัวคุณหมอจะอายุสั้น อิอิ...) ผมไม่ได้อยู่ที่เชียงใหม่แล้วตอนนี้อยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ไหวครับอยู่ที่โน่นอยู่แล้วความดันขึ้นปรี๊ดเลย แล้วผมก็เล่าถึงสาเหตุให้คุณหมอทราบ
หลังจากคุณพ่อผมเสียมรดกของท่านมีมากมายจะต้องแบ่งกับน้องๆทั้งผมด้วยรวม 5 คนด้วยกัน แรกๆผมอยากจะเป็นชาวสวน เมื่อสมัยคุณพ่อมีลูกน้องช่วยทำงาน 4-5 คนท่านใจดีให้ยกครอบครัวเข้ามาปลูกบ้านในที่ดินที่ว่างปลายสวน เมื่อผมไปอยู่ก็ให้ทำสัญญาว่าจ้างเป็นรายๆและเป็นปีๆไป คงจะเป็นสาเหตุนี้มั้งจึงมีแต่เรื่องปวดหัวทุกๆเช้า กลางวันก็ดูทุกๆคนเป็นมิตรแต่พอกลางคืนกลายเป็นศัตรูซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร
ปรึกษาพี่น้องเอามรดกทั้งหมดตีราคาประเมิน(ต่ำกว่าราคาซื้อขาย 2-3 เท่า)แบ่งกันคนละ 10 ล้านกว่าๆ น้องสาวรับภาระเอาเงินให้ 7ล้านผมยกให้แม่ของลูก ที่เหลือฝากธนาคารถอนออกมาเดือนละหมื่นเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว กะว่าจะอยู่ดูโลกนี้อีก 300 เดือน อิอิ...
“อะ...จะอยู่ต่ออีก 25 ปีเชียวเรอะ” คุณหมออุดมหัวเราะ “นี่แหละที่เขาว่ามีเงินแล้วเป็นทุกข์ หาความสุขไม่ได้...เออนี่ หมอจะเล่านิทานให้ฟัง...ว่าแต่ว่านับถือศาสนาอะไร...” เมื่อผมตอบนับถือศาสนาพุทธ คุณหมอก็เริ่มเล่านิทาน...'ไม่มีนี่แหละสุข'
...วันหนึ่งท่ามกลางพายุฤดูหนาวที่พัดกระหน่ำ อากาศหนาวเหน็บเย็นยะเยือก
มีชายคนหนึ่งเป็นคนเลี้ยงวัว มีวัว 16 ตัว วัวเขาเกิดหายไป
เขาเดินหาจนออกเหงื่อ ก็ไม่เจอ บังเอิญได้ไปพบพระพุทธเจ้า ทรงนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ จึงเข้าไปก้มกราบและถามพระพุทธองค์ว่า
“ท่ามกลางพายุฤดูหนาวเช่นนี้ พระองค์ทรงนั่งอยู่ได้อย่างไร อย่างมีความสุข”
พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “นี่เธอมีความสุขหรือไม่”
คนเลี้ยงวัวตอบ “ไม่มีความสุขเลย”
พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อ “ทำไมเธอจึงไม่มีความสุข”
“วัว 16 ตัวของกระผมหายไป”
พระพุทธเจ้าก็เลยทรงถามว่า “ฉันไม่มีวัวสักตัวเลย เธอว่าฉันมีความสุขหรือไม่”
“พระองค์มีความสุขแน่นอน พระองค์ไม่มีวันที่วัวจะหายได้เลย”
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามต่อว่า “ในเมืองนี้ใครรวยที่สุด”
“พระเจ้าพิมพิสาร”
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามต่อ “พระเจ้าพิมพิสารมีโอกาสมานั่งสบายอย่างฉันหรือเปล่า”
“มานั่งแบบนี้เหมือนพระองค์ไม่ได้หรอก” คนเลี้ยงวัวตอบ
พระพุทธเจ้าทรงตรัสบอก “ในบรรดาคนที่มีความสุขที่สุดในโลก ต้องนับฉันเข้าไว้ด้วย 1 คน”
อะไร คือนิยามความสุขที่แท้จริงของมนุษย์?
ความสุขในนิยามอย่างพระพุทธองค์ หาได้เกี่ยวกับความมีหรือไม่มีสิ่งอันใดไม่?
และ ความไม่มีนั่นแหละ...กลับเป็นต้นทาง เป็นท่ามกลางและเป็นที่สุดของความสุขอันนิรันดร ที่ไม่มีสิ่งใดจะมาพรากจากเราไปได้เลย...คุณหมออุดมย้ำ
แล้วคนฟังคือผม...ดวงตาเห็นธรรมบรรลุอรหันต์ในทันใด อิอิ...
ขอเล่าส่งท้ายต่ออีกนิดนะครับ
พูดถึงเรื่องมีเงินมีทรัพย์แล้วเป็นทุกข์นี่ เพื่อนผมคนนึงมาเยี่ยม เราเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่ครั้งเรียนหนังสือแถวๆท่าพระจันทร์ ขับรถส่วนตัวยกครอบครัวพาลูก-เมียมาจาก ตจว. ตีสองตีสามมันตื่นพรวดพราดลุกขึ้นมากดรีโมทในมือ ถามมันไม่ตอบ แต่ได้ยินเสียงแตรรถดังลั่นอยู่กลางสนามหน้าบ้าน อ๋อ...มันเช็ครถ ก็บอกมึงเอาเข้ามาจอดในบ้านเลย จะได้ไม่ต้องมาคอยกังวลชั่วโมงครึ่งชั่วโมงเช็คที ประสาทกูจะกลับไม่เป็นอันนอนกันล่ะคืนนี้
แม่ของลูกผมก็ใช่ย่อย ที่ทำงานอยู่แถวๆพระโขนง บอกผมจะซื้อรถเก๋งขับไปทำงานสักคัน ผมเลยเหน็บให้ นี่คุณอย่าหาเรื่องใส่ตัวเลย ทำงานทั้งวันก็เหนื่อยอยู่แล้ว เลิกงานจะต้องมาทนนั่งขับรถกลับบ้านอีก รถก็ติดเป็นตังเม ขับเคลื่อนได้ทีละเมตรสองเมตรชวนให้ง่วงนอน บ้านเราอยู่ต้นทางรถตู้ ค่ารถแค่ 25 บาทเอง คุณขึ้นรถได้ก็นอนหลับให้สบายไปเลย พอถึงบ้านคนขับก็ปลุกเองแหละ คนรู้จักกันทั้งนั้น คุณจะไปไหนก็แท็กซี่นั่นแหละ ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลหาที่จอดรถ จอดแล้วก็กลัวหายอีก อะไรไม่ว่า เกิดขับรถไปเฉี่ยวชนใครเข้าก็เดือดร้อนกันอีก เสียทั้งเงินทั้งเวลาไปปลี้ๆเปล่าๆ
“ไหนจะค่าน้ำมัน ค่าซ่อม ค่าอะไหล่ ค่าใช้จ่ายอีกสารพัดจิปาถะ” คุณหมออุดมเสริม “เดี๋ยวก็นอนไม่หลับสะดุ้งตื่นมาเช็ครถอีก ลงท้ายก็เดือดร้อนคนนอนข้างๆ...”
ถูกต้อง...ถูกต้องครับ
อย่างน้อยๆคุณหมอคงจะมีประสบการณ์มาแล้ว อิอิ...
ทำอย่างไรชีวิตจึงจะไม่มีทุกข์?
http://xchange.teenee.com/index.php?showforum=9
ครั้งหนึ่งได้มีผู้ไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า คำสอนทั้งหมดของพระองค์จะสรุปลงได้ว่าอย่างไร?
ซึ่งพระองค์ทรงตรัสตอบว่า คำสอนโดยสรุปของพระองค์นั้นสรุปอยู่ในประโยคที่ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวเรา-ของเรา”
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้หมายถึงอะไรบ้าง? ก็หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างไม่เว้นสิ่งใด โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นชีวิตจิตใจของเราเองก็ยึดถือไม่ได้ ยิ่งเป็นทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา หรือสามีก็ยิ่งยึดถือไม่ได้
ทำไมจึงยึดถือไม่ได้ ก็ในเมื่อมันเป็นตัวเรา-ของเรา ไม่ได้เป็นของคนอื่นนี่นา?
ซึ่งเหตุที่ยึดถือไม่ได้ก็เพราะ แท้จริงสิ่งทั้งหลายนั้นมันเป็นเพียง “สิ่งที่ธรรมชาติปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้นมาตามเหตุตามปัจจัยเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น” หาได้เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรหรือตั้งอยู่ตลอดไปตามที่เราต้องการไม่
เมื่อสิ่งที่เรารัก เราพอใจยังคงอยู่กับเรา เราก็ยังพอที่จะมีความสุขอยู่บ้าง แต่พอสิ่งที่เรารัก เราพอใจนั้นเปลี่ยนแปลงไป หรือพลัดพรากจากเราไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ซึ่งเราก็ไม่สามารถห้ามมันได้ ก็จะทำให้ตัวเราที่ไปยึดถือนั้นเป็นทุกข์ตามไปด้วย ถ้ารักน้อยก็ทุกข์น้อย ถ้ารักมากก็ทุกข์มาก ถ้ารักหมดชีวิตก็เป็นทุกข์หมดชีวิตเหมือนกัน
อย่างเช่นถ้าสิ่งที่เรารักยิ่ง หรือคนที่เรารักมากได้จากเราไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เราก็ย่อมที่จะมีความเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวง จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือแทบจะฆ่าตัวตายก็ได้ ถ้าสิ่งนั้นเรารักมากจนหมดชีวิต
หรือถ้าเราแก่เฒ่าลง ความแก่ชราของร่างกายย่อมเป็นที่น่ารังเกียจทั้งแก่ตัวเราเองและแก่ผู้อื่น คนที่แก่เฒ่าจึงมีแต่ความเศร้าซึม ที่เรียกว่าเป็นโรคซึมเศร้า
หรือคนที่เจ็บป่วยหรือพิกลพิการตาบอด หูหนวก ที่นอนซมอยู่ มีทุกข์ทางกายอยู่ มีความยากลำบากทางกายอยู่ ก็ย่อมที่จะมีความทุกข์ตรม หรือเศร้าใจ หรือเบื่อหน่ายชีวิต
หรือแม้คนที่รู้ตัวว่าจะต้องตายในเร็ววัน ก็ย่อมที่จะเศร้าโศกเสียใจอย่างยิ่ง ที่ต้องพลัดพรากจากทุกสิ่งที่รักที่พอใจไปอย่างไม่มีวันได้กลับมาอีก เป็นต้น
หรืออย่างน้อย ถ้าสิ่งที่รักยังไม่จากเราไป มันก็ทำให้เราต้องเป็นห่วง กังวล เครียด หรือต้องลำบากคอยติดตามดูแลรักษาอยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็ทำให้เราต้องเกิดความทุกข์เล็กๆน้อยอยู่เสมอ
อีกทั้งถ้ายังต้องทำงานมากขึ้นเพื่อหาทรัพย์มาเลี้ยงดูสิ่งที่เรารัก ก็ทำให้เพิ่มความเหนื่อยยากให้มากขึ้นอีก ถ้าเพียงกินน้อยใช้น้อยก็ยังไม่ต้องเหนื่อยยากเท่าไร แต่ถ้าสิ่งที่เรารักกินมากใช้มากเกินความจำเป็น ก็ทำให้เราต้องเหนื่อยยากมากขึ้น
บางทีถ้าบำรุงบำเรอสิ่งที่เรารักไม่เป็นที่พอใจ สิ่งที่เรารักก็อาจจะจากเราไปได้ จึงทำให้เราต้องทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม อันเป็นเหตุให้ถูกโทษหรือสังคมประณาม ซึ่งก็ทำให้ต้องมีความทุกข์ใจมากขึ้นอีก
ความทุกข์นั้นก็มีทั้งอย่างรุนแรง คือทำให้เศร้าโศก เสียใจ ทุกข์ทรมานใจ ร้อนใจ และอย่างกลางๆคือเครียด กลุ้มใจ หนักใจ กระวนกระวายใจ เบื่อหน่ายไม่สบายใจ
รวมทั้งอย่างบางๆคือเป็นเพียงความหงุดหงิดรำคาญใจ หรือไม่สงบ ขุ่นมัว ไม่แจ่มใส ว้าวุ่นใจ ลังเลสงสัย และความฟุ้งซ่านจนน่ารำคาญ รวมทั้งความหดหู่เซื่องซึม
ซึ่งปรกติในวันหนึ่งๆนั้นเราจะถูกความทุกข์ชนิดบางๆนี้ครอบงำอยู่เกือบจะทั้งวัน และที่เหลือส่วนมากก็จะมีอย่างกลางๆเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเราก็คงพอทนกันได้
ส่วนความทุกข์ที่รุนแรงนั้นนานๆจึงจะเกิดขึ้น ถ้าความทุกข์ที่รุนแรงเกิดขึ้นบ่อยๆหรือนานๆ ตลอดทั้งวันเราก็คงเป็นบ้าตายกันไปหมดแล้ว
ซึ่งความทุกข์ทั้งหมดนี้ล้วนมีสาเหตุมาจากความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราทั้งสิ้น คือเพราะมีความรัก และมีของรักจึงได้มีทุกข์ และในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่มีความรักใดๆและไม่มีของรัก ก็จะไม่มีทุกข์ ซึ่งจิตที่ไม่มีทุกข์นั้นเราก็รู้กันอยู่แล้วว่ามันรู้สึกอย่างไร ซึ่งมันก็ตรงข้ามกับความรู้สึกที่เป็นทุกข์ คือสงบ เย็น เบา ปลอดโปร่ง แจ่มใส ซึ่งในทางศาสนาจะเรียกว่า นิพพานนั่นเอง
บางคนอาจกล่าวว่า “จริงอยู่ที่ว่า ‘สิ่งที่รักทำให้เกิดความทุกข์’ แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อสิ่งที่รักนั้นมันให้ความสุขแก่เรา และเราก็ติดใจหลงใหลในความสุขนั้นเสียแล้วจนห้ามใจไม่ได้ ถึงจะมีความทุกข์ตามมามากมายในภายหลังก็ยอมรับได้ ซึ่งก็คงจะดีกว่าถ้าไม่มีสิ่งที่รักหรือไม่มีความรัก ชีวิตก็คงจะแห้งเหี่ยวหรือเป็นทุกข์มากกว่าการที่เราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักนั้นไปเป็นแน่ ใช่หรือไม่?”
ถ้าใครคิดว่า “ยอมเป็นทุกข์เพื่อแลกกับความสุขจากการมีความรัก” ก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ถ้าใครคิดว่ามันไม่คุ้มกันกับการที่มีความสุขเพียงเล็กน้อย แต่ต้องมีความทุกข์อย่างมากมายเป็นผล ก็ลองมาศึกษาวิธีการเอาชนะความรักนี้ดู เผื่อบางทีเราอาจจะอยู่เหนืออำนาจของความรักได้ ไม่เป็นทาสของความรัก ให้ความรักมันกดขี่ ข่มเหง บีบคั้น หรือใช้ทำงานหนักเหมือนกับเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ที่น่าสงสารได้
มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วก็เป็นธรรมดาที่ชีวิตต้องการความสุข ซึ่งความสุขก็เกิดขึ้นได้จากการเห็นรูป, ฟังเสียง, ดมกลิ่น, ลิ้มรส, สัมผัสทางผิวกาย, และคิดนึกทางจิตใจ
แต่ถ้าจะสรุปแล้วความสุขของโลกก็มีอยู่ ๓ ประเภท คือ (๑) เรื่องกาม คือสุขจากเรื่องของสวยของงาม น่ารักน่าใคร่ น่าพอใจทั้งหลาย โดยมีจากเพศตรงข้ามเป็นสิ่งสูงสุด (๒) เรื่องกิน ซึ่งหมายถึงเรื่องวัตถุที่ไม่ใช่กาม แต่เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น วัตถุเครื่องใช้ ทรัพย์สิน เงินทอง บ้าน รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เป็นต้นและ (๓) เรื่องเกียรติ คือเรื่องเกียรติยศ ชื่อเสียง ความเด่นดัง ความมีอำนาจ
สิ่งทั้ง ๓ คือ กาม กิน เกียรติ นี้เรียกว่าเป็นวัตถุนิยม คือเป็นที่ตั้งของความนิยมชมชอบของคนทั้งหลายในสังคม ผู้คนทั้งหลายล้วนแสวงหาความสุขจากวัตถุนิยมเหล่านี้ คนที่เป็นคนดีก็แสวงหาในทางที่ดี ส่วนคนที่ชั่วก็แสวงหาในทางที่ชั่ว บางคนก็แสวงหาทั้งในทางทีดีและชั่วปะปนกัน การแสวงหาในทางทีดีก็คือไม่เอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเป็นสุข ส่วนในทางที่ชั่วก็คือเอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเป็นทุกข์
วัตถุนิยมทั้งหลายนี่เองที่เป็นสิ่งที่ให้ความสุขและทำให้เราเกิดความรัก ความพอใจ และลุ่มหลงติดใจอย่างยิ่ง ซึ่งการที่จะเอาชนะความรักความพอใจในสิ่งเหล่านี้ได้ก็ต้องใช้แรงดันกับแรงดึง ซึ่งแรงดันก็คืออำนาจที่จะผลักให้เราออกไปจากความติดใจหลงใหลในสิ่งที่รักที่เป็นวัตถุนิยม ส่วนแรงดึงก็คืออำนาจที่จะดึงเราให้ไปรักหรือพอใจในสิ่งอื่นที่ให้ความสุขเหมือนกันแต่ว่าไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษเหมือนกับสิ่งที่รักหรือวัตถุนิยม
สิ่งที่จะเป็นแรงดันนั้นก็คือทุกข์และโทษจากที่ได้บรรยายไปแล้วตอนต้น ซึ่งเราจะต้องหมั่นพิจารณาให้มากอยู่เสมอ จนจิตเกิดความเบื่อหน่ายต่อความสุขจากวัตถุนิยม หรือกลัวต่อทุกข์และโทษของมันทั้งที่อาจจะกำลังเกิดอยู่จริง และหรือที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
ส่วนแรงดึงนั้นก็คือความสุขที่ดีกว่า หรือมีทุกข์ มีโทษน้อยกว่า โดยเริ่มจากการละเว้นเรื่องกามก่อน เพราะมีโทษมากกว่าเรื่องกิน คือให้พิจารณาเห็นโทษจากการมีคู่ หรือมีคนรัก หรือจากการมีเพศสัมพันธ์ให้มาก เช่น ถึงได้คู่ครองดีก็ต้องมีภาระมากขึ้น ทำงานหนักมากขึ้น ต้องทนอยู่ด้วยกันไปจนตลอดชีวิตเพราะความรักจางคลายลงไปแล้ว ต้องลำบากในการมีลูก ในการเลี้ยงดูลูก ต้องเอาใจคู่ครองหรือครอบครัวของคู่ครอง เป็นต้น แต่ถ้าได้คู่ครองไม่ดีก็ต้องเครียด ต้องปวดหัว ต้องเป็นทุกข์ ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งอาจจะทำร้าย หรือนำโรคร้ายแรงมาให้เราได้ เป็นต้น
เมื่อเห็นทุกข์และโทษจากเรื่องกามแล้วก็ไปแสวงหาความสุขจากเรื่องกิน หรือเรื่องวัตถุสิ่งของที่ไม่ใช่เรื่องกามแทน ที่มีโทษน้อยกว่า เช่น สะสมวัตถุสิ่งของที่ชื่นชอบ ปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์เลี้ยง วาดรูป เขียนหนังสือ ฝึกซ่อมเครื่องใช้ต่างๆ หรือรับจ้างทำงานพิเศษที่ตนเองถนัด หรือคิดค้นประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น หรือใครที่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษาหรือทำหน้าที่การงานอยู่ ก็มุ่งมั่นอยู่แต่ในเรื่องการเรียน หรือการทำงานโดยไม่สนใจเรื่องเพศตรงข้ามก็ยิ่งดี ก็จะทำให้หลุดพ้นจากเรื่องกามได้โดยง่าย
แต่เรื่องกินก็ยังมีโทษ เช่น ทำให้ห่วงกังวลกลัวจะสูญหาย หรืออาจจะไม่ได้ผลดังที่เราคาดหวังไว้ก็ได้ หรือถ้าเกิดความสูญเสียไปเราก็ยังเป็นทุกข์ หรืออาจเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาก็ได้ หรือเมื่อเราต้องจากมันไปเราก็ยังเป็นทุกข์อยู่ดี เป็นต้น
และเมื่อเห็นโทษของเรื่องกินแล้วก็ให้เปลี่ยนมาแสวงหาความสุขจากเรื่องเกียรติแทน คือ การสร้างคุณงามความดีให้สังคมยกย่อง เช่น ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ตนเองมีแก่คนด้อยโอกาส ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก อุทิศตนเพื่อสังคม เป็นต้น ซึ่งก็จะทำให้จิตหลุดพ้นจากเรื่องกินได้
แต่เรื่องเกียรติก็ยังมีโทษ เช่น อาจไม่ได้มีคนยกย่องเสมอไป ถ้าเกิดถูกคนกลั่นแกล้งนินทาว่าร้ายก็อาจทำให้ถูกสังคมดูหมิ่นดูแคลนได้ และแม้ความมีเกียรติก็ต้องขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคม ดังนั้นแน่นอนว่าในอนาคตสังคมก็ย่อมที่จะลืมเลือน แล้วเราก็ต้องกลายเป็นคนต่ำต้อยด้อยเกียรติขึ้นมาทันที แล้วเราก็ต้องเป็นทุกข์อีกจนได้ และถ้าเราจะตายเราก็ยังเป็นทุกข์อยู่อีกนั่นเอง เป็นต้น
แล้วอะไรที่จะดึงเราให้หลุดพ้นจากอำนาจของเรื่องเกียรติได้?
คำตอบก็คือ “ปัญญา ศีล สมาธิ”
ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญญาก็คือ ความรอบรู้เรื่องการดับทุกข์ โดยมีหัวใจอยู่ที่ความเข้าใจว่า “แท้จริงมันไม่มีตัวเราอยู่จริง”
ส่วนศีลก็คือการรักษากายกับวาจาของเราไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น
ส่วนสมาธิก็คืออาการที่จิต “ไม่มีความยึดถือว่ามีตัวเราอยู่อย่างมั่นคง”
ซึ่ง “ปัญญา ศีล สมาธิ” นี้สามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากอำนาจของความสุขจากวัตถุนิยมทั้งหลายได้อย่างถาวรเลยทีเดียว
จุดสำคัญอันดับแรกก็คือ เราจะต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า ความจริงแล้วร่างกายและจิตใจทั้งของเราและของผู้อื่น รวมทั้งของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนี้ เป็นเพียง “สิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาจากเหตุปัจจัยหลายๆอย่างเท่านั้น”
ดังนั้นเมื่อมันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้นมา มันจึงไม่มีอะไรที่จะมาเป็นตัวตนของมันเองได้เลย(อนัตตา) และเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ไม่สามารถที่จะตั้งอยู่อย่างถาวรหรือคงอยู่ไปชั่วนิรันดรได้(อนิจจัง) และไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องแตกสลายหรือดับหายไปอย่างแน่นอน ซ้ำเมื่อยังตั้งอยู่ มันก็ยังต้องมีแต่ความยากลำบากในการดำรงชีวิต(ทุกขัง)อยู่อีกด้วย
ความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา นี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เพราะความรู้นี้เป็นความรู้ที่จะช่วยให้เรามองเห็นความจริงของธรรมชาติเรื่องที่ว่าทำไมจึงยึดถือสิ่งทั้งหลายโดยเฉพาะร่างกายและจิตใจของเรา(ตามที่สมมติเรียก)เองนี้ไม่ได้
ถ้าใครยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็เท่ากับยังไม่รู้จักพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแท้จริง และไม่มีทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง และเมื่อมีความเข้าใจเรื่องนี้แล้ว การปฏิบัติศีลกับสมาธิก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงเรียนรู้หลักการนิดหน่อยก็สามารถไปปฏิบัติเองได้ทันทีโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับใคร หรือไม่ต้องมีพิธีรีตรองใดๆ
และถึงแม้เราจะเป็นชนชาติใด ภาษาใด หรือนับถือลัทธิศาสนาใดอยู่ก็ตาม ถ้ามีความเข้าใจหลักการดับทุกข์นี้แล้ว ก็สามารถนำหลักการนี้ไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ภายนอก หรือการกระทำทางกายและวาจาใดๆ คือทุกอย่างภายนอกจะเหมือนเดิม จะเปลี่ยนแปลงก็เพียงจิตใจที่มีความเข้าใจต่อธรรมชาติอย่างถูกต้องขึ้นเท่านั้น
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
สาธุ...
ตอบลบขอบคุณที่นำความรู้ดีๆมาเผยแพร่ค่ะ
สุรีย์พร
จริงค่ะ...ไม่มีนี่แหละเป็นสุขที่สุด
ตอบลบไม่ต้องเป็นกังวลใดๆ
แอ๋ว
สวัสดีครับ คุณสุรีย์พร
ตอบลบสวัสดีครับ คุณแอ๋ว
ขอบคุณครับที่แสดงความคิดเห็นทำให้หายเหงา...ไม่เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย