ต่อมลูกหมากโต Benign Prostatic hyperplasia
By: thailabonline.com
ลักษณะทั่วไป: ผู้ชายเมื่อมีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ต่อมลูกหมากมักจะโตไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามสังขาร ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ต่อเมื่อมีอายุมากกว่า 55 ปี ขึ้นไป ผู้ชายบางคนอาจมีต่อมลูกหมากโตและแข็ง กดท่อปัสสาวะได้ และกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่แข็งแรงพอจะบีบต้านแรงกดของต่อมลูกหมาก จึงทำให้เกิดมีอาการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ โรคนี้อาจพบได้ประมาณ 10% ของผู้ชายสูงอายุ
ต่อมลูกหมากโตเกิดขึ้นได้อย่างไร: ต่อมลูกหมากในผู้ชายที่โตเต็มที่จะประมาณเท่ากับลูกเกาลัด เมื่ออายุมากขึ้นเนื้อเยื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้องอก (ชนิดธรรมดา) โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เมื่อเซลล์แตกตัวมากขึ้นก็ทำให้ขนาดต่อมลูกหมากโตขึ้นเรื่อยๆจนไปกดหรือเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดขึ้น
อาการ: ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่ง ปัสสาวะพุ่งไม่แรง ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้ง (ตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นถ่ายบ่อย) แต่ละครั้งออกได้ทีละน้อย บางครั้งอาจถ่ายออกเป็นเลือด หรืออาจมีอาการขัดเบาจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบากดังกล่าวอยู่เป็นแรมปี จนในที่สุด จะมีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออกเลย เนื่องจากท่อปัสสาวะถูกต่อมลูกหมากกดจนอุดตัน ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตึงที่ท้องน้อย และคลำได้ก้อนของกระเพาะปัสสาวะที่มีปัสสาวะคั่งอยู่เต็ม
อาการโดยหลัก:
- อาการระคายเคือง
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะกลางคืน
- ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
และหากเป็นมากขึ้นจะเริ่มมีอาการอุดตัน เช่น ปัสสาวะต้องเบ่ง ปัสสาวะลำเล็กลง ปัสสาวะไม่สุด และอาจลงท้ายด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวผิดปกติ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะเล็ดราด จนถึงไตทำงานลดลง
โรคต่อมลูกหมากโตเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมี 2 ระยะคือ
ระยะแรก: จะมีอาการปัสสาวะบ่อย จากที่เคยลุกขึ้นปัสสาวะในตอนกลางคืน 1-2 ครั้ง หรือไม่ลุกเลย จะลุกขึ้นบ่อย 3-4 ครั้งขึ้นไปจนรบกวนการนอนหลับ ในเวลากลางวันก็มีอาการปัสสาวะบ่อยแต่คนไข้จะปรับตัวได้จนไม่รู้สึก
ระยะที่สอง: ต่อมาจะรู้สึกว่าปัสสาวะนานกว่าจะออก ต้องเบ่งบางครั้งต้องรอ 1-2 นาทีจึงจะออกและจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ปัสสาวะไม่พุ่ง แทนที่จะพุ่งไปข้างหน้าก็พุ่งน้อยลง พอปัสสาวะเสร็จยังมีหยดออกมาอีก ในที่สุดจะปัสสาวะไม่ออกเลย
สำหรับท่านใดที่มีอาการดูคล้ายกับอาการของต่อมลูกหมากโต แนะนำให้รีบมาปรึกษาแพทย์หรือทำการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะเนื่องจากยังมีอีกหลายภาวะที่มีอาการคล้ายกัน เช่น ภาวะปัสสาวะบ่อยจากมีปริมาณปัสสาวะมาก ปัสสาวะบ่อยกลางคืนจากการนอนไม่หลับ หรือเป็นผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดน้ำมูก โดยปกติ เมื่อพบแพทย์มักจะมีการตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะ การคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก เพื่อดูขนาด ความแข็ง ความขรุขระที่ผิวของต่อมลูกหมาก(เพื่อดูมะเร็งต่อมลูกหมาก) ความรู้สึกเจ็บ(เพื่อดูเรื่องต่อมลูกหมากอักเสบ)
อาการแทรกซ้อน: อาจทำให้เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ หรือภาวะไตวาย
ในคนไข้ที่มีอาการน้อยๆ ควรเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร
จุดใหญ่คือคนที่อายุมากขึ้นจะมี ปัญหาเรื่องปัสสาวะแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นมากเป็นน้อย วิธีปฏิบัติตัวคือ
1. หลักเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ก่อนนอนอย่าดื่มน้ำมาก และให้ปัสสาวะก่อนเข้านอน เพราะกลางคืนจะได้ไม่ต้องลุกขึ้นบ่อย กลางวันไปไหนก็อย่ากลั้นปัสสาวะ ปวดแล้วก็ควรจะปัสสาวะ เพราะกลั้นแล้วจะทำให้เป็นมากขึ้น
2. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ปัสสาวะออกมาเยอะ
3. อย่านั่งจักรยานหรือทำอะไรที่สะเทือนต่อมลูกหมาก เพราะจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก
4. ถ้าเป็นไปได้ควรมีการร่วมเพศบ้าง เวลามีน้ำเชื้อออกมาบ้างจะทำให้ต่อมลูกหมากไม่บวม
ข้อแนะนำ
1. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอนติสปาสโมดิก, ยากระตุ้นประสาทอัตโนมัติ (sympathomimatic) เพราะอาจทำให้ปัสสาวะไม่ออกได้
2. โรคนี้เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง และมีทางรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด แต่ถ้าปล่อยไว้ อาจมีภาวะแทรกซ้อนอันตรายร้ายแรงได้
3. อาการถ่ายปัสสาวะลำบากในผู้ชายสูงอายุ อาจมีสาเหตุจากโรคมะเร็งของต่อมลูกหมากหรือมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งบางครั้งอาจแยกอาการจากต่อมลูกหมากโตไม่ออก ดังนั้นทางที่ดี ควรแนะนำให้ผู้ชายสูงอายุที่มีอาการปัสสาวะลำบากไปตรวจที่โรงพยาบาลทุกราย
การตรวจร่างกายที่ให้รายละเอียดของต่อมลูกหมากได้มากที่สุดคือการตรวจทางทวารหนัก โดยหมอจะเอานิ้วสอดเข้าไปในทวารหนักเพื่อคลำต่อมลูกหมากดูว่ามีความผิดปกติบ้างหรือไม่