จาก: นิตยสารดวงใจพ่อแม่
"น้ำตาคลอ เป็นเพราะหนูขี้แงแน่หรือจ๊ะ?"
"ขี้ตาเยอะ ขยี้ตาบ่อยๆ ง่วงรึเปล่า?"
"ทำไมหนูร้องไห้แล้วไม่มีน้ำตาล่ะ?"
อาการที่ว่านี้อาจบอกถึงความผิดปกติของดวงตาลูกน้อยได้ เรามีวิธีสังเกตอาการผิดปกติรวมถึงวิธีการดูแลรักษาดวงตาของลูกน้อยอย่างน่าสนใจ
ตาแฉะ
พบได้บ่อยในทารก 1 เดือนแรก โดยเด็กที่มีอาการตาแฉะจะมีน้ำคลออยู่ที่ตาเสมอ มักมีขี้ตาแฉะออกมาตรงหัวตา อาจจะเป็นเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งทำให้คนตาเหนียวติดกันเวลานอนหลับ อย่างไรก็ดี ตาแฉะนั้นเกิดจากหลายสาเหตุลองสังเกตอาการให้ถี่ถ้วนอีกสักนิด
ตาแฉะ มีขี้ตาขาวๆ: อาจเกิดจากเด็กเมื่อแรกเกิดแพทย์จะหยอดตาเด็กทันทีเพื่อป้องกันโรคหนองใน และเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจเข้าตาเด็ก ซึ่งยานี้อาจทำให้เด็กตาแฉะและมีขี้ตาขาวได้
ตาแฉะเนื่องจากการติดเชื้อ: พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดเช่นกัน ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ในตาของเด็กระหว่างการคลอด เช่น น้ำคร่ำหรือเลือด หรืออาจได้รับภายหลังการคลอดไปแล้ว เด็กจะมีขี้ตามาก และเมื่อตื่นนอนจะทำให้ลืมตาไม่ค่อยขึ้น เพราะขี้ตาที่แห้งเหนียว
ตาแฉะเนื่องจากการแพ้สารเคมี: ทารกแรกเกิดอาจเกิดอาการแพ้สารซิลเวอร์ไนเตรตที่หยอดตาหลังคลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อหนองในจากแม่
นอกจากตาแฉะแล้ว อาการผิดปกติของดวงตายังเกิดขึ้นได้อีกหลายสาเหตุ
มีน้ำตาไหลออกมาเมื่อทารกร้องไห้: เด็กแรกเกิดจะเริ่มมีน้ำตาประมาณ 2 อาทิตย์ผ่านไป ดังนั้น การมีของเหลวออกมาจากตาทารกก่อนเด็กอายุ 2 อาทิตย์ จึงมักเป็นความผิดปกติที่คุณแม่ควรพาไปพบแพทย์
ท่อน้ำตาหนูก็ตันได้นะ: หากเด็กอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไปแล้ว เวลาร้องไห้น้ำตายังไม่ยอมออกมา สันนิษฐานได้ว่าท่อน้ำตาของลูกอาจจะตันได้ค่ะ ถ้าเด็กมีน้ำตาเอ่อที่ตาอยู่ตลอดวันลองเอานิ้วกดเบาๆ ที่หัวตาด้านล่าง แต่ถ้าไม่ได้ผลควรพาไปพบจักษุแพทย์ เพื่อรักษาโดยการใช้ยาหยอดตา หรือใช้วิธีล้างท่อตา ในกรณีที่ไม่หายแพทย์จะใช้การผ่าตัดรักษาได้
หนังตาเด็กบวมแดง มีขี้ตาสีเหลืองหรือสีเหลืองปนสีเขียว: แสดงว่ามีเชื้อโรคเข้าตา ทำให้เด็กตาอักเสบอาจเป็นสาเหตุจากเชื้อบักเตรีหรือเชื้อไวรัสที่มาจากฝุ่น หรืออากาศที่ไม่สะอาด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะแพทย์จะจัดยาหยอดตาที่เหมาะกับโรคมาให้
ตาเขหรือตาเหล่ในบางขณะ: เด็กทารกแรกเกิดถึง 2 เดือน ยังไม่สามารถเรียนรู้ที่จะปรับโฟกัสตาซ้ายและตาขวาเข้าด้วยกันได้ ทำให้ตาของลูกจึงดูเหมือนว่ามีอาการตาเหล่หรือตาเขได้ แต่ถ้าหากหลังจากอายุพ้น 3 เดือนไปแล้ว ตาลูกยังไม่หายเหล่หรือเข คุณแม่ก็ควรรีบพาลูกไปให้แพทย์ตรวจโดยทันที เพราะถ้าหากทิ้งไว้นานจะยิ่งรักษายาก
ดูแลรักษาดวงตาลูกน้อย:
ทำความสะอาดโดยเช็ดขี้ตาให้ลูกบ่อยๆ เมื่อเห็นว่ามีขี้ตาออกมา
ทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้ารองนอนให้ลูกบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าตา
หลีกเลี่ยงพาลูกไปในที่มีฝุ่น ควันเยอะๆ ลมแรง หรือแสงจ้ามากๆ
สังเกตอาการผิดปกติของดวงตาลูกเป็นประจำทุกวัน
เมื่อพบอาการผิดปกติควรพาลูกไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด แพทย์จะจัดยาหยอดตาที่เหมาะสมให้
เช็ดตาลูก: ทำความสะอาดขี้ตาที่ติดอยู่ โดยใช้สำลีชุบน้ำสุกอุ่นๆ เช็ดตาข้างหนึ่งโดยเริ่มเช็ดจากหัวตาไปยังหางตา
นวดตาลูก: การนวดหัวตาหรือถุงน้ำตา มักใช้ในกรณีที่จักษุแพทย์บ่งชี้ว่า เจ้าตัวเล็กของคุณท่อน้ำตาตัน ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยทำให้ท่อน้ำตาเปิด และป้องกันถุงน้ำตาและเยื่อบุตาอักเสบได้ การนวดให้นวดวันละประมาณ 2-6 ครั้ง ครั้งละ 10 ที โดยวางนิ้วก้อยไว้ที่ตำแหน่งหัวตาชิดดั้งจมูกซึ่งตรงกับตำแหน่งของถุงน้ำตาและส่วนบนของท่อน้ำตา กดเบาๆ และเคลื่อนลงข้างล่างเพื่อเพิ่มความดันในท่อน้ำตาและทำให้รูของท่อน้ำตาเปิด
ระวังสักนิด! ก่อนนวดตาให้ลูก ควรสำรวจตัวคุณเองว่าเล็บยาวหรือไม่ และล้างทำความสะอาดแล้วหรือยัง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับดวงตาของลูกได้ ที่สำคัญคือ ควรได้รับการแนะนำอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น