เลือกแว่นให้จ๊าบ...
by: ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุตเดี๋ยวนี้เป็นที่ฮือฮา ในคนสายตาสั้น ที่หันมาเลือกการแก้ไข โดยใช้เครื่อง Ezcimer laser โดยวิธีใหม่สุดที่เรียกว่า Lasix ซึ่งเป็นวิธีการ ผ่านกระจกออกก่อน แล้วใช้แสง Excimer ตัดกระจกตาออกมา บางส่วนและนำส่วนของกระจกตา ที่ฝานออกมาปิดไว้เหมือนเดิม
แม้จะเป็นวิธีที่ถือว่า มีการพัฒนาการไปอย่างมากจนเชื่อถือได้แล้ว แต่คงจะต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ไม่เหมาะกับยุคนี้
วิธีแก้ไขสายตาผิดปกติที่ง่ายที่สุดใช้กันมานานที่สุด คงหนีไม่พ้นแว่นสายตา คาดว่าแว่นสายตาเริ่มมีใช้ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1286 ในปัจจุบันคาดว่าประมาณครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกัน ใช้แว่นตาจึงถือเป็นอุปกรณ์สำหรับชีวิตประจำวันที่สำคัญกล่าวกันว่า ธุรกิจเกี่ยวกับแว่นตาในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าถึงกว่า 7 ล้านๆ เหรียญสหรัฐ
วิวัฒนาการของแว่นตา มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า 100 ปี ก่อนคริสตศักราช บุคคลสำคัญชาวโรมันที่มีอายุมากขึ้น มองระยะใกล้ไม่ชัดเจนจนอ่านหนังสือเองไม่ได้ ต้องใช้ทาสอ่านหนังสือให้ฟัง เป็นยุคก่อนจะมีแว่นตา ชาวกรีกโบราณใช้ลูกแก้วบรรจุน้ำวางบนหนังสือ จะได้ตัวหนังสือที่ขยายใหญ่ขึ้น มีคนพยายามใช้มรกต ช่วยตัดแสงจ้าออกช่วยในการอ่านหนังสือ
จากบันทึกของ Marco Polo (ปี 1270) ว่า ชาวจีนเริ่มรู้จักใช้แว่นตา แต่เป็นการใช้เพื่อปกป้องดวงตา จากอันตรายมากกว่า แว่นตาคู่แรกที่คาดว่ามีในปี ค.ศ.1286 เป็นเลนส์เว้าโดยมีกรอบทำด้วยไม้โอ้ก แว่นอันถัดๆ มาอาจเป็นแว่นมือถือ เป็นแว่นที่ใช้แถบรัดศีรษะ ตลอดจนการใช้กล้ามเนื้อรอบเบ้าตาหนีบแว่นไว้ ซึ่งเรียกว่า Monocle คิดโดยชาวเยอรมัน ซึ่งมีปัญหาที่แว่นตาตกได้บ่อยๆ จึงไม่มีที่ใช้อีก
แว่นที่มีรูปทรงแบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ โดยมีเลนส์อยู่ในกรอบและมีก้านแว่นแนบกับขมับเกี่ยวไว้ที่หู แม้ว่ากรอบแว่นตาจะมีการพัฒนามาเรื่อยๆ ก็ยังได้รูปแบบที่ไม่ดีนัก กรอบยังต้องวางอยู่บนดั้งจมูกซึ่งมีรูปร่างขนาดแตกต่างกันระหว่างบุคคล ยังขึ้นกับระดับหูของผู้สวม ซึ่งอาจสูงต่ำไม่เท่ากัน กรอบยังขยับขึ้นลงบนดั้งจมูก การจะใช้สายตาออกมาชัดเจนดี เลนส์แว่นตาต้องอยู่ในแนวของสายตา การกลอกตาไปมา อาจทำให้แนวสายตากับแนวของเลนส์ไม่ตรงกัน ยังต้องมีก้านแว่นเกะกะเกี่ยวอยู่ข้างหู ด้วยข้อไม่ดีเหล่านี้ การจะให้คนบางคนใช้แว่นตาจึงต้องมีแรงจูงใจพอสมควร
แรงจูงใจที่สำคัญที่สุดคือการมองเห็นที่ชัดเจน แรงจูงใจอันถัดมาคือ กรอบแว่นตาที่สวยเข้ากับใบหน้า ทำให้ผู้สวมมีความมั่นใจยิ่งขึ้น ทุกคนที่ต้องใช้แว่นตา คงต้องการที่จะสวมแว่นที่ผู้อื่นมองดูแล้วชมว่าสวยงามเหมาะสม สะดุดตา เพิ่มพูนบุคลิก การเลือกกรอบแว่นตาที่เหมาะสมถูกต้อง ในการวาดภาพหรือถ่ายภาพ อันจะทำให้ภาพที่ออกมาสวย การใช้แว่นตาที่รูปแบบเหมาะสมก็จะเสริมบุคลิกของผู้สวมเช่นกัน ไหนๆ เราก็ตัดสินใจใช้แว่นสายตาแก้ไขความผิดปกติของสายตาแล้ว มาให้ความสนใจในการเลือกกรอบแว่นกันสักนิด
เริ่มต้นด้วยมาดูกันถึงแว่นตา ซึ่งประกอบด้วย กรอบแว่นตาซึ่งรับเลนส์ทั้ง 2 ข้างเชื่อมกันด้วยแกนหรือโครง ที่วางอยู่บนหรือหน้าดั้งจมูก และก้ามแว่นที่เกี่ยวกับหู การเลือกแว่นตาที่เหมาะสมอยู่ที่รูปแบบของกรอบแว่นตา อาจจะเป็นรูปกลม รูปรี รูปเหลี่ยม รูปแบบของบริเวณ ที่เชื่อมกรอบทั้ง 2 ข้าง ควรอยู่สูงหรือต่ำ ตลอดจนก้านแว่น บริเวณชิดกรอบแว่นควรจะมีรูปแบบหรือตกแต่งเพิ่มเติมอย่างไร
การเลือกรูปแบบ ของกรอบแว่นตา ขึ้นอยู่กับรูปหน้าของคนเรา ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 7 แบบ โดยอาศัยสัดส่วน ของความกว้าง และความยาวของใบหน้า และกำหนดจุดตำแหน่ง ของรูปหน้า ได้แก่ จุดที่หน้าผาก จุดที่โหนกแก้ม และจุดที่กราม ทำให้เราสามารถ เห็นลักษณะของรูปหน้า ได้ง่ายขึ้น และรูปหน้าพื้นฐาน อาจจะแบ่งได้เป็น 7 แบบ ได้แก่
1. รูปหน้าไข่ เป็นรูปหน้าที่สวยที่สุด คางจะแคบกว่าหน้าผากเล็กน้อย และโหนกแก้มจะสูง รูปกรอบที่ดี ควรจะรักษาความสมดุล ของรูปหน้านี้ไว้ ใบหน้ารูปไข่เป็นรูปหน้าที่ไม่เหลี่ยมไม่กลมจึงสามารถใช้กรอบแว่นทั้งกลม และเหลี่ยมได้ และควรหลีกเลี่ยงกรอบที่มีตำแหน่งขาแว่นต่ำ
2. หน้ารูปทรงข้าวหลามตัด เป็นรูปหน้าที่ส่วนหน้าผาก และคางแคบ ควรเลือกกรอบแว่นที่ลดความกว้างของโหนกแก้มลง และขยายส่วนหน้าผาก และคางให้กว้างขึ้น กรอบที่เหมาะกับรูปหน้านี้ ได้แก่ ทรงกลม ทรงเหลี่ยม หรือทรงที่ด้านบนตรงและด้านล้างมน
3. รูปหน้าทรงกลม เป็นรูปหน้าที่มีความกว้าง เท่ากับความยาวมีเหลี่ยมมุมบนใบหน้าน้อย ควรเลือกกรอบที่ช่วยเพิ่มเหลี่ยมมุมบนใบหน้าเพื่อทำให้หน้าดูยาวขึ้น และผอมลง กรอบที่มีเหลี่ยมมุมเล็กน้อยจะช่วยลดความกลมของใบหน้าได้ ควรเป็นกรอบที่มีความกว้างมากกว่าความยาว และมีตำแหน่งขาแว่นสูงหรือตรงกลาง ควรจะมีสีค่อนข้างเข้ม เช่น น้ำตาลเข้ม แดงเข้ม น้ำเงินเข้ม หรือลายกระก็ได้
4. รูปหน้าสี่เหลี่ยมจตุรัส เป็นรูปหน้าที่มีช่วงกรามเด่นชัด หน้าผาก โหนกแก้ม และคางกว้างควรเลือกกรอบที่ทำให้หน้าดูยาวขึ้น เป็นกรอบที่มีความกว้างมากอาจเป็นรูปที่มีตำแหน่งขาแว่นตาอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้การใช้สีสานหรือตกแต่งช่วยมุมบนของกรอบ จะช่วยเพิ่มความยาวของใบหน้าได้ รวมทั้งการเล่นลวดลายที่ขาพับ ในตำแหน่งที่อยู่เหนือระดับตา
5. รูปหน้าทรงสามเหลี่ยมตั้ง เป็นรูปหน้าที่ส่วนหน้าผากแคบ ส่วนแก้มและคางกว้างควรเลือกกรอบแว่นที่เพิ่มความกว้างของหน้าผาก และลดความกว้างของแก้ม กรามและคาง กรอบด้านบนควรกว้างและหนา ส่วนกรอบด้านล่างควรทำมุมเข้า
6. รูปหน้ารูปสามเหลี่ยมคว่ำ เป็นรูปหน้าที่ตรงข้ามกับ รูปหน้าทรงสามเหลี่ยมตั้ง ด้านหน้าผากกว้าง โหนกแก้มสูง รูปหน้าจะค่อยๆแคบลงมาจนถึงคาง ควรเลือกกรอบแว่น ที่ด้านล่างกว้างกว่าด้านบนหรือกรอบที่ด้านบนกลม ด้านล่างเหลี่ยม ขาแว่นควรจะอยู่ในตำแหน่งล่างเพื่อช่วยสร้างความสมดุลให้แก่ใบหน้า
7. รูปหน้าทรงสี่เหลี่ยมยาว เป็นรูปหน้าที่ความกว้าง น้อยกว่าความยาว จึงควรเลือกกรอบที่ทำให้หน้าดูสั้นลง หรือกว้างขึ้น อาจเป็นทรงกลม ทรงยาว หรือทรงสามเหลี่ยมคว่ำ หรือกรอบที่มีแนวนอนหนารวมทั้งการเล่นลวดลายหรือตบแต่งขาแว่น และขาแว่นที่อยู่ตำแหน่งล่างจะช่วยให้ดูดีขึ้น
โดยสรุป การเลือกกรอบแว่นให้เหมาะสม ต้องพิจารณาองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆ ควรเริ่มด้วย การวิเคราะห์สัดส่วนต่างๆของรูปหน้าทั้งด้านกว้าง และด้านยาวและจัดรูปหน้าว่าอยู่ในแบบใดในพื้นฐานทั้ง 7 แบบ เลือกกรอบแว่นที่เหมาะสมช่วยแก้ไขจุดด้อย และเสริมจุดเด่นให้แก่ใบหน้า โดยมีหลักสำคัญ 3 ประการ
1. ลักษณะกรอบควรจะแตกต่างหรือตัดกับรูปหน้า เช่น รูปหน้าทรงกลมควรเลือกกรอบที่มีเหลี่ยม
2. กรอบควรมีขนาดเหมาะสมกับขนาดใบหน้า หน้าใหญ่ไม่ควรใช้กรอบที่ใหญ่กว่าหน้า
3. กรอบควรสร้างสมดุลให้รูปหน้ามากที่สุด โดยสามารถแก้ไขความกว้าง ความยาวของส่วนต่างๆ บนใบหน้าให้เกิดสมดุลได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเลือกรูปแบบของแว่นตาได้แล้ว ก็อย่าลืมพิถีพิถันเกี่ยวกับเลนส์ที่นำมาตัดด้วย อันจะทำให้ผู้สวมดูสวยสง่า และที่สำคัญมองเห็นได้ชัดเจนดีด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น