โดย นายแพทย์สำราญ วังศพ่าห์
ทุกคนควรรู้จักถนอมสายตาและป้องกันตาบอดด้วยตนเอง ในวัยเด็กอาศัยครูและผู้ปกครองช่วยดูแล แพทย์เป็นแต่ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำและให้การรักษา
การถนอมสายตา: หลักการปฏิบัติในการถนอมสายตามีดังนี้
1. กินอาหารให้ถูกต้อง อาหารมื้อหนึ่งๆ ควรมีอาหารโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่และวิตามินให้ครบถ้วน วิตามินเอ จำเป็นสำหรับการสร้างโครงสร้างของเยื่อบุชั้นนอก (epithelium) และของเซลล์ วิตามินเอเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมีในชั้นจอตาขณะรับแสงสว่าง การพร่องวิตามินเอ ทำให้มีอาการมองเห็นไม่ชัดในที่มืด (night blindness) เยื่อหุ้มตาแห้ง กระจกตาแห้ง เป็นเกล็ดกระดี่ที่เยื่อหุ้มตากระจกตาเป็นแผลซึ่งทำให้ตาบอดได้
ในประเทศด้อยพัฒนา ภาวะพร่องวิตามินเอเป็นสาเหตุหนึ่งของตาบอดในวัยเด็ก ถ้าได้รับวิตามินเอมากเกินพอ ผิวหนังและเยื่อหุ้มตาจะมีสีเหลือง อาจมีอาการบวมของหัวประสาทตา มีเลือดออกที่จอตา การพร่องวิตามินดีอาจทำให้เป็นต้อแก้วตา เป็นโรคกระดูกอ่อน ตากระตุก การพร่องวิตามินอี ทำให้กล้ามเนื้อตาบางมัดทำงานไม่ปกติ การพร่องวิตามินซี วิตามินเค ทำให้มีเลือดออกที่จอตา การพร่องวิตามินบีหนึ่งทำให้ประสาทตาเสื่อมและฝ่อลีบ การพร่องวิตามินบีรวม ทำให้หลอดเลือดฝอยมารวมที่กระจกตาเพิ่มขึ้น หนังตาอักเสบ มีอาการกลัวแสง สายตามัว
2. ควรตรวจสายตาเมื่อมีอาการปวดศีรษะ หรือมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ควรตรวจตั้งแต่เด็กเริ่มเรียนหนังสือ และสวมแว่นตาตามแพทย์สั่ง การไม่สวมแว่นตาในผู้ที่มีสายตาผิดปกติจะเป็นเหตุให้สายตามัวและถ้าทิ้งไว้นานตั้งแต่เด็ก แม้ใช้แว่นช่วยก็ไม่ช่วยให้มองเห็นชัดขึ้นเพราะสายตาข้างนั้นไม่ได้ใช้งานมานาน
3. เมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงสว่างมากเกินควรควรสวมแว่นตาสีชาหรือสีดำ เพื่อลดความแรงของแสงที่อาจทำอันตรายต่อตา ผู้ที่ทำงานในที่ที่ใช้แสงสว่างมากเช่น การเชื่อมโลหะโดยใช้เปลวไฟที่ร้อนจัด หรือใช้ประกายไฟฟ้าที่มีแสงออกมามากนั้น ควรสวมแว่นดำกันแสง ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวัตถุร้อนอยู่ตลอดเวลาเช่น งานเป่าแก้ว ทำโซ่ ควรสวมแว่นตาดำเพื่อป้องกันไม่ให้แสงอินฟราเรดทำลายแก้วตา มิฉะนั้นจะเกิดเป็นต้อแก้วตา ขณะดูสุริยคราสควรใช้แว่นสีดำมืดสวมหรือดูจากเงาสะท้อนในน้ำ อย่าดูด้วยตาเปล่า ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์เข้าไปเผาทำลายประสาทจอตา
4. ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการกลึงของ หรือต้มสารที่เป็นกรดหรือเป็นด่างควรสวมแว่นตาป้องกันไอกรดด่าง หรือป้องกันผงที่กระเด็นจากการกลึงไม่ให้เข้าตา
5. ควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสกับดวงตา ไม่ควรใช้สิ่งสกปรกเช็ดตา ทั้งนี้เพื่อป้องกันเชื้อโรครวมทั้งเชื้อราไม่ให้เข้ามาทำอันตรายลูกตา
6. ไม่จำเป็นต้องล้างตาเป็นประจำ เพราะน้ำตาของคนเราจะไหลล้างชำระอยู่ตลอดเวลา น้ำตาเป็นน้ำสะอาดภายในมียาฆ่าเชื้อโรคอยู่แล้ว การล้างตาจะทำให้ความเข้มข้นของน้ำตาอ่อนลง ยาล้างตาบางชนิดอาจมีความสมดุลของกรดด่างไม่พอเหมาะ ถ้ามีมากไปจะรบกวนลูกตา การล้างตาจะทำในรายที่ต้องการล้างเอาผงหรือขี้ตา หรือสิ่งสกปรกอื่นออก
7. ไม่จำเป็นจะต้องกลอกตาไปมาเพื่อออกกำลังให้ลูกตา เพราะโดยปกติแล้วกล้ามเนื้อกลอกตาทำงานหนักอยู่แล้วตลอดเวลาตื่น ควรพักสายตาด้วยการหลับตาหรือมองไปไกลๆดีกว่า
8. สิ่งที่เป็นพิษเป็นอันตรายต่อลูกตาควรละเว้น เช่น พิษจากบุหรี่ประเภทยาเส้นซึ่งทำให้ประสาทตาเสีย ยาหลายชนิด เช่น ควินิน สุราที่กลั่นไม่บริสุทธิ์ เหล่านี้จะทำอันตรายประสาทตาได้
9. ควรอ่าน เขียน หรือทำงานที่ละเอียดในที่ที่มีแสงสว่างพอเหมาะและเพียงพอ การดูโทรทัศน์ควรดูในที่มีแสงสว่าง เพราะแสงสว่างที่เกิดขึ้นเมื่ออิเล็กตรอนวิ่งมากระทบจอภาพนั้นลูกตาสามารถดูได้โดยไม่ต้องปรับสายตาต่อความมืด มีบางคนเข้าใจผิดว่าการดูโทรทัศน์จะเห็นได้เมื่อตาต้องปรับสายตาเหมือนกับดูในที่มืด ควรดูในระยะห่างจากจอภาพอย่างน้อย 5 เท่าของความกว้างของจอภาพ
การป้องกันตาบอด: โรคและอาการต่างๆที่ควรระวัง ได้แก่
1. เมื่อกรดด่างหรือสารเคมีเข้าตาควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดที่พอจะหาได้ทันที อาจใช้น้ำประปาจากก๊อกก็ได้ การล้างตาในรายอย่างนี้ต้องล้างให้มากที่สุดและนานราว 5 นาที หลายๆครั้ง แล้วจึงไปพบจักษุแพทย์
2. เมื่อมีอันตรายที่ตาไม่ว่าลูกตาจะเป็นแผลหรือไม่เป็นก็ตาม อย่าใส่ยาอะไรทั้งหมด ควรใช้ผ้าหรือกระดาษสะอาดปิดตาแล้วไปพบแพทย์
3. อาการตาแดง ปวดตา เห็นดวงไฟมีแสงรุ้งรอบ มองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นมืดลง เหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์
4. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคเลือด โรคเรื้อน อาจมีโรคแทรกทางตาเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยโรคเหล่านี้แม้ยังไม่มีอาการของสายตาก็ควรให้จักษุแพทย์ตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อป้องกันการตาบอดจากโรคแทรกที่ตา ซึ่งถ้าเกิดเป็นแล้วมักทำลายประสาทตาให้ตาบอด และถ้าโรคเป็นมากแล้วรักษาให้หายยาก จึงควรป้องกันตั้งแต่ต้น
5. ผู้ที่อายุเลย 40 ปีไปแล้ว ควรตรวจเพื่อป้องกันโรคต้อหิน โรคต้อหินชนิดเรื้อรังนั้น เมื่อเริ่มเป็นผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติมากจึงมักไม่รู้ตัว จะรู้ตัวว่าเป็นหรือมีอาการก็ต่อเมื่อโรคนั้นเป็นมากแล้ว
6. ควรตรวจสายตาตนเองเป็นครั้งคราวโดยปิดตาดูทีละข้างว่าสายตาสองข้างเห็นเท่ากันหรือไม่หรือข้างหนึ่งข้างใดไม่เห็น ตาอยู่ด้านหน้าของใบหน้าและตาทั้งสองข้างทำงานพร้อมกัน ถ้าไม่ปิดดูก็ยังคงคิดว่าแต่ละข้างยังทำงานได้ดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น